การศึกษาที่ไม่ทิ้งรากเหง้า


ภาพโดยกิตติ ตรีราช

เยาวชนราว 20 คนช่วยกันกางเต้นท์ริมแม่น้ำเงา บรรยากาศเป็นไปอย่างครื้นเครง เสียงคุยกันเจี๊ยวจ๊าวสนุกสนาน ท่ามกลางธรรมชาติในป่าใหญ่ที่กำลังเตรียมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่น้ำเงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

แม่น้ำสายนี้ใสราวกระจกทำให้เห็นเงาต้นไม้และสภาพแวดล้อมริมแม่น้ำ จึงมีชื่อว่าแม่น้ำเงาซึ่งต้นน้ำอยู่บริเวณป่ารอยต่อ 3 จังหวัดคือแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และตาก ไหลย้อนขึ้นเหนือรวมกับแม่น้ำยวมกลายเป็นแม่น้ำสองสีที่บริเวณสบเงา หมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย ที่อยู่ห่างจากจุดกางเต็นท์ไปไม่กี่กิโลเมตร และแม่น้ำยวมไหลลงแม่น้ำสาละวินบริเวณพรมแดนไทย-พม่า

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_20201212_144110-1024x571.jpg
ภาพโดยกิตติ ตรีราช

แม่น้ำสาละวินได้ชื่อว่าเป็นแม่น้ำชาติพันธุ์เพราะไหลผ่าพื้นที่ที่ของชนเผ่าต่างๆมากมาย อาทิ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะเรนนี มอญ ก่อเกิดแหล่งอารยธรรมขึ้นมากมายตลอดลำน้ำและจนถึงวันนี้แม่น้ำสาละวินยังคงเป็นเส้นเลือดสำคัญของชาวบ้านโดยไม่แบ่งชนชาติและภาษา

เยาวชนทั้งหมดเป็นนักศึกษาของวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนซึ่งทั้งหมดได้รับทุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) โดยทั้งหมดเป็นเด็กยากจนแต่ยังมุ่งมั่นในการเรียนรู้

“เด็กๆกสศ.กลุ่มน้ำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เกือบทั้งหมด โดย 90% เป็นปกาเกอะญอ ครอบครัวมีฐานะยากจน ถ้าไม่ได้รับทุนการศึกษาก็ไม่ได้เรียนต่อเพราะพวกเขาต้องออกไปทำงานหาเงินช่วยเหลือพ่อแม่ บางคนยอมเสียสละให้น้องที่เป็นฝาแฝดไปเรียนที่เชียงใหม่และตัวเองตั้งใจจะออกมาหาเงินช่วยเหลือส่งเสีย เยาวชนเหล่านี้หากไม่พวกเขาไม่ได้เรียนต่อ อีกไม่นานก็เข้าสู่ระบบการมีครอบครัว”ทรงศักดิ์ ปัญญา อาจารย์วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน ฉายภาพวิถีชีวิตและระบบการศึกษาในพื้นที่เมืองสามหมอก

ทรงศักดิ์และคณะอาจารย์วิทยาลัยชุมชนได้ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)นำเยาวชนกลุ่มนี้มาเรียนรู้แหล่งธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนบ้านแม่เงาและบ้านแม่เลาะ โดยชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านกำลังตกอยู่ในสภาพกังวลใจเนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐกำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ทั้งโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลและการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแม่เงา

อาจารย์ทรงศักดิ์เป็นชาวแม่ฮ่องสอนโดยกำเนิดโดยเขามีเชื้อสายไทใหญ่ หลังจากเรียนจบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาเริ่มต้นชีวิตการงานอยู่ในองค์กรพัฒนาเอกชนอยู่ 3 ปี จากนั้นถึงได้เข้าไปเป็นอาจารย์อยู่ในวิทยาลัยชุมชนตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งขณะนั้นาสถาบันการศึกษาแห่งนี้เพิ่งก่อตั้งมาได้ 2 ปี

วิทยาลัยชุมชนเป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มเด็กที่จบ ป.6 แต่เกิดช่องว่างในสายอาชีพ เช่น ไม่มีหลักสูตรท้องถิ่นที่ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่

“วิทยาลัยชุมชนมีความคล่องตัวในการจัดระบบการเรียนการสอนสูง เราไม่มีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต บางพื้นที่ใช้โรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกยุบทิ้ง บางพื้นที่ใช้วัดเป็นที่เรียน เรามุ่งเน้นต้อบสนองความต้องการของชุมชนเป็นหลัก เรามีกรรมการสภาวิทยาลัยที่เป็นคนท้องถิ่นคอยช่วยให้แนวคิดและกำกับทิศทาง”นักวิชาการหนุ่มมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งกว่า 80% ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นป่าใหญ่และดอยสูง ทำให้การจัดระบบการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆเป็นเรื่องท้าท้าย “จุดแข็งอีกประการหนึ่งของเราคือเปิดและปิดหลักสูตรได้ง่าย ซึ่งมหาวิทยาลัยทำไม่ได้”

“เราใช้ระบบเครือข่าย ทั้งศิษย์เก่าและเครือข่ายต่างๆ เช่น ศูนย์พัฒนาชาวเขา รวมถึงผู้นำหมู่บ้านในการช่วยชี้เป้าและคัดกรองเด็กในเบื้องต้นก่อน บางคนที่เกรดไม่สูง แต่เขายากจนเราก็รับเขามา บางคนเขามีทักษะพิเศษ สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่พวกเขาควรได้รับโอกาสให้เรียนต่อ”

อาจารย์ทรงศักดิ์บอกว่าเยาวชนที่ได้รับทุนจาก กสศ.ได้รับเงินเดือนละ 6,500 บาท นอกจากใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว บางส่วนได้เก็บไว้เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพเมือเรียนจบ ขณะเดียวกันทางวิทยาลัยก็ไม่ได้ห้าม หากพวกเขาจะส่งเงินกลับบ้าน แต่เราสอนเรื่องกระบวนการคิดเพื่อให้เขารับผิดชอบเอง

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_20201212_144227-1024x567.jpg
ภาพโดยกิตติ ตรีราช

“เด็กๆแม่ฮ่องสอนจำนวนไม่น้อยต้องออกจากสถานศึกษาเพราะพ่อแม่มีรายได้น้อย พวกเขาจึงต้องออกไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ถ้าเงินส่วนนี้เข้าไปช่วยจุนเจือครอบครัวได้ ทำให้เด็กๆเรียนอย่างไม่พะวงหน้าพะวงหลัง ก็เป็นเรื่องของเขา หรือบางช่วงหากเขาต้องการกลับไปช่วยครอบครัวทำนาก็สามารถทำได้ อาจารย์ผู้สอนจะรู้และบริหารจัดการได้ เราค่อนข้างยืนหยุ่น”

น.ส.กุลธิดา ใจสดสวยสวัสดิ์ หรือโดโด๊ะ นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวภายหลังจากร่วมกิจกรรมว่า รู้สึกประทับใจมากที่ได้ร่วมเรียนรู้สภาพข้อเท็จจริงจากชาวบ้านแม่เลาะซึ่งมีปัญหาที่ดินทำกินถูกทับซ้อนโดยอุทยานฯ จริงๆแล้วชาวบ้านก็ไม่ได้ปฎิเสธการมีอุทยานฯเพียงแต่อุทยานฯควรมาฟังชาวบ้านบ้าง

“มาเรียนรู้ครั้งนี้ทำให้เข้าใจหัวอกของชาวบ้านดี เพราะที่บ้านของหนูก็กำลังตกอยู่ในสภาพนี้ หนูคิดว่าถ้าเจ้าหน้าที่รัฐมาคุยกับชาวบ้านและทำข้อตกลงไว้ร่วมกัน ก็จะทำให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันได้”

โดเด๊ะมีเชื้อสายปกาเกอะญอ เกิดและเติบโตที่บ้านโป่งดอยช้าง อำเภอแม่สะเรียง พ่อแม่มีอาชีพรับจ้าง เมื่อเรียนจบม.6 เธอคิดว่าตัวเองคงไม่ได้ศึกษาต่อเพราะไม่มีเงิน และน้องสาวที่เป็นฝาแฝดได้กู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ไปแล้ว เธอไม่อยากเป็นหนี้อีกแต่โชคดีที่ได้ทุนของ กสศ.และได้เรียนที่วิทยาลัยชุมชนแห่งนี้ซึ่งนอกจากเสียค่าเทอมเพียง 700 บาทแล้ว ยังมีเงินเหลือส่งไปช่วยค่าใช้จ่ายในครอบครัว

“ถ้าหนูไม่ได้ลงพื้นที่เช่นนี้ หนูก็คงไม่ทราบปัญหาและความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน หนูอยากให้มีการแก้ไขความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น”

รูปภาพนี้มี Alt แอตทริบิวต์เป็นค่าว่าง ชื่อไฟล์คือ IMG_20201212_144244-1024x578.jpg
ภาพโดยกิตติ ตรีราช

ขณะที่นายวีระพันธ์ เลิศนิมิตบุญ หรือตาล นักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า “รู้สึกดีใจมากที่ตัวเองได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวของชาวบ้านแม่เงาและโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ผมอยากให้คนที่จะมาทำโครงการดูแลชาวบ้านมากกว่านี้”

ตาลเป็นหนุ่มกะเหรี่ยง หลังจากเรียนจบปวช.จากพะเยา เขาสมัครเรียนต่อที่วิทยาลัยชุมชนเพราะได้อยู่กับพ่อแม่ และมีรายได้เหลือส่งให้ครอบครัวเดือนละ 2 พันบาท ที่สำคัญคือมีเวลาช่วยเหลือพ่อแม่ทำไร่ด้วย

“เรียนที่นี่สนุกดีครับ แถมเรามีเวลาช่วยเหลือพ่อแม่ด้วย อนาคตผมอยากทำงานด้านปศุสัตว์ จึงพยายามเรียนรู้เรื่องนี้ ตอนเรียนปวช.ผมก็ทำโครงการหารายได้ระหว่างเรียนโดยการเลี้ยงไก่ จนชนะการประกวดระดับชาติ ทำให้มีรายได้ใช้ในการเรียนหนังสือ”

ตาลชอบการเรียนการสอนในลักษณะเดียวกับกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เพราะเขาได้ประสบการณ์จากลงพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนท้องถิ่นอย่างเขา เพราะถึงอย่างไรตาลก็ตั้งใจว่าจะกลับมาอยู่บ้านเมื่อเรียนจบ

การที่หลายฝ่ายจับมือกันส่งเสริมการเรียนรู้ให้เยาวชนในท้องถิ่นได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนซึ่งเป็นรากเหง้าของพวกเขาและสนับสนุนให้พวกเขาได้เรียนรู้ถึงสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องพึ่งพาเพื่อปรับใช้กับตัวเองในวันข้างหน้า ถือว่าเป็นทางเลือกด้านการศึกษาของสังคมไทยหลงทิศมานาน

—————-

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest