รอยยิ้มและคราบน้ำตา ของพ่อเฒ่าแม่เฒ่าบนดอยสูง

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ทีมงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและสำรวจวิถีชีวิตของผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ที่ในขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการลงรายการสัญชาติไทย มีบัตรประชาชนแล้ว โดยผ่านการทำงานด้านสถานะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้เฒ่าไร้สัญชาติ แต่ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในขั้นตอนแก้ไขปัญหาเพื่อให้เข้าถึงสิทธิ คณะได้ไปลงพื้นที่หมู่บ้านเฮโก ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน และหมู่บ้านกิ่วสะไต ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน  จังหวัดเชียงราย มีผู้เฒ่าที่เป็นกรณีศึกษาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ

          พ่อเฒ่าอาเหล งัวยา อายุ 82 ปี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเฮโก หมู่บ้านดอยสูง ห่างไกลจากเมือง ในอดีตส่งผลให้การเข้าถึงในสิทธิต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างลำบาก พ่อเฒ่าเล่าว่าในปี 2534 ที่ได้มีการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง แต่เกิดความผิดพลาด เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลว่าพ่อเฒ่าอาเหล งัวยา เกิดที่ประเทศพม่า ทำให้พ่อเฒ่าจำเป็นต้องถือสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งๆ ที่ความจริงพ่อเฒ่าเป็นคนไทย เกิดบนแผ่นดินไทย มีหลักฐานคือการสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.เชียงราย

ช่วงที่ผ่านมา มูลนิธิ พชภ. และที่ปรึกษาทางกฎหมาย ได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือและสืบค้นหาพยานที่ยืนยันตัวตนของพ่อเฒ่าได้จริงว่าเป็นชาวเขาดั้งเดิมจนสำเร็จ

วันที่ 24 กันยายน 2563 ทางอำเภอแม่จันได้เรียกตัวพ่อเฒ่าอาเหลเพื่อไปถ่ายบัตรประชาชน สร้างความปราบปลื้มและเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้พ่อเฒ่าได้ต่อสู้และพยายามมาตลอดเพื่อสิทธิที่ตนเองควรจะได้รับและตอนนี้มันสำฤทธิ์ผลแล้ว

“รู้สึกว่าตัวใหญ่ขึ้น” พ่อเฒ่าตอบอย่างอารมณ์ดีเมื่อถูกถามว่าเป็นอย่างไรบ้างตั้งแต่ได้บัตรประชาชน “เมื่อก่อนต้องอยู่อย่างหวาดระแวงเพราะไม่มีบัตรประชาชน เดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ได้” พ่อเฒ่าบอกว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุแล้ว “อยากเดินทางไปหาญาติที่เชียงใหม่ตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ไปสักที ตอนนี้ได้บัตรประชาชนแล้วคิดว่าจะไปเยี่ยมญาติในอีกไม่กี่วันข้างหน้า”

พ่อเฒ่าอาเหลเป็นหัวหน้าชุมชนที่เป็นผู้บุกเบิกหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นกำลังหลักในการนำวัฒนธขนบธรรมเนียมประเพณีเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน

ปัจจุบันนี้หมู่บ้านเฮโกก็ยังเป็นหมู่บ้านที่ต้องทำการช่วยเหลือและติดตามผลกการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพราะยังมีคนเฒ่าอีกหลายราย ที่ยังคงมีปัญหาสถานะบุคคล

พวกเรายังได้ลงพื้นที่บ้านกิ่วสะไต ซึ่งไม่กี่ปีก่อน ยังมีแม่เฒ่า 17 รายที่ยังไม่มีบัตรประชาชน แต่มูลนิธิ พชภ. ดำเนินการจนได้รับบัตรประชาชนแล้วเกือบทุกคน

แม่เฒ่าเล่าว่า สาเหตุที่แม่เฒ่าในหมู่บ้านแห่งนี้ได้รับสัญชาติในวัยชรา เนื่องจากตามวิถีดั้งเดิมของชาวอาข่า ผู้หญิงต้องอยู่บ้านทำงานและเลี้ยงลูก ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปต่างหมู่บ้าน ขณะที่ผู้ชายเป็นฝ่ายประสานงานต่างถิ่น โดยเฉพาะภารกิจประสานงานกับหน่วยงานราชการ ทำให้ผู้ชายได้บัตรประชาชน ส่วนผู้หญิงยังคงตกค้างจนวัยชรา

ต่อมามูลนิธิ พชภ.ได้เข้าไปดำเนินการผลักดันแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เปราะบาง

หลายเดือนต่อมา ในปี 2562 อำเภอแม่จันจึงดำเนินการให้ผู้เฒ่าทั้ง 13 รายนี้ไปถ่ายบัตรประชาชน

ภายหลังได้รับแจ้งว่ายังแม่เฒ่าไร้สัญชาติอยู่อีก 4 รายและ 1 ในนั้นเป็นแม่เฒ่าที่พิการ ตาบอดไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้คือ แม่เฒ่าตาเมอ เบเซกู่ อายุ 91 ปี ซึ่งต้องให้ลูกชายเป็นคนดูแลตลอดเวลา และมีอาการหูหนวก เรื่องที่น่าเศร้าใจก็คือสมัยที่แม่เฒ่าตาเมอยังมีอายุไม่มากนัก ได้เข้าป่าเพื่อไปเก็บฟืนแต่ถูกเศษไม้หล่นใส่ที่ดวงตาส่งผลทำให้มีเศษไม้เข้าไปติดในดวงตา และเนื่องจากสมัยก่อนหมู่บ้านอยู่ห่างไกล ทำให้แม่เฒ่าคิดว่าหากไปรักษาจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงและเสี่ยงถูกจับเนื่องจากออกนอกพื้นที่ ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมที่โรงพยาบาล ส่งผลทำให้ตอนนี้แม่เฒ่าตาเมอสูญเสียดวงตา อย่างไรก็ตามมูลนิธิ พชภ.กำลังเร่งดำเนินการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มผู้เฒ่ากลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด

เราหวังว่าภาครัฐ และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของผู้เฒ่าไร้สัญชาติโดยไว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เปราะบางและควรจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างยิ่ง

——————-

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest