ผู้เฒ่าลีซูวัย 82 ปี กับบัตรประชาชนใบแรกในชีวิต

เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ผู้เฒ่าอาเหล ซึ่งเกิดและอยู่บนผืนแผ่นดินไทยมา 82 ปี และภรรยา ได้รับการลงรายการสัญชาติไทย และถ่ายบัตรประชาชนไทย หลังจากที่ผู้เฒ่าสิ้นหวังและไม่คิดว่าชาตินี้จะได้เป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์แบบ

ผู้เฒ่าอาเหล งัวยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.2481 ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บิดามารดาพาย้ายถิ่นฐานอยู่บนดอยแม่สลอง ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ในขณะนั้นบนดอยแม่สลอง มีกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ยังไม่ปรากฏให้เห็นว่ามีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเหมือนปัจจุบัน จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 ผู้นำชาวลีซู ถูกฆ่าเสียชีวิต ทำให้กลุ่มลีซูส่วนใหญ่ต้องแตกกระจายตัวไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยนายอาเหลได้ตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ที่ดอยหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากมีชาวลีซูกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่

ปี พ.ศ.2501 นายอาเหลได้แต่งงานกับ นางอาหวู่มิ งัวยา โดยมีการทำพิธีตามประเพณีลีซู ซึ่งทั้งคู่ได้มีบุตรด้วยกัน 11 คน นับตั้งแต่ปี 2520 จนถึงปัจจุบัน นายอาเหลปักหลักตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน และไม่ได้เดินย้ายถิ่นฐานไปที่ใดอีกเลย

            ในปี 2534 ได้มีการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง แต่ได้เกิดความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ระบุว่านายอาเหลและนางอาหวู่มิ เกิดที่ประเทศพม่า ทำให้นายอาเหลได้รับสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายเรื่อยมา ขณะที่ลูกๆทั้งหมดต่างได้บัตรประชาชนคนไทยแล้วทั้งสิ้น

            ขณะที่มีหลักฐาน คือบัญชีสำรวจบุคคลในบ้าน (ทร.ชข) ของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งดำเนินการสำรวจเมื่อพ.ศ. 2528 ถึง 2530และพยานยืนยันได้ว่านายอาเหลเป็น 1 ใน 9 เผ่าที่เป็นชาวเขาดั้งเดิม และควรได้รับบัตรประชาชนคนไทย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานรับรองการจดทะเบียนการเกิด เนื่องจากนายเอเหลเกิดก่อนระบบทะเบียนราษฎรทั่วไป แต่การบันทึกข้อมูลผิด ทำให้กระบวนการรับรองสัญชาติของผู้อาวุโสลีซู ยืดเยื้อเรื่อยมา

            มีชาวเขาดั้งเดิมจำนวนมากที่เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับผู้เฒ่าอาเหลและภรรยา เนื่องจากการบันทึกที่ผิดเพี้ยนข้อเท็จจริง เพราะการลงพื้นที่เพื่อบันทึกข้อมูลสมัยก่อน ทำกันตามมีตามเกิด มีล่ามบ้าง ไม่มีล่ามบ้าง เมื่อเจ้าหน้าที่ถามและจดบันทึกไปแล้วก็ไม่ได้มีการนำมาตรวจทานหรือส่งให้เจ้าของปัญหาดูอีกครั้ง ที่สำคัญการจะแก้ไขข้อมูลให้คนที่ถูกระบุว่าเกิดนอกประเทศมาเป็นเกิดในประเทศนั้น แทบทำไม่ได้เพราะเคยมีคำสั่งจากกรมการปกครองห้ามแก้ไขให้ผู้ที่ถูกบันทึกว่าเกิดนอกประเทศเป็นเกิดในประเทศ เนื่องจากหวั่นเกรงในเรื่องการทุจริตคอรั่น ทำให้ผู้เฒ่าอาเหลแทบจะไม่มีโอกาสได้บัตรประชาชนไทยเลย

            ชีวิตของผู้เฒ่าอาเหลและภรรยาแม้ไม่ลำบากมากนัก แต่ก็ไม่ได้สิทธิอันพึ่งมีพึงได้เหมือนพลเมืองไทยทั่วไป แค่การเดินทางไปเยี่ยมเยียนลูกหลานที่ไปอยู่ต่างถิ่นก็ทำได้ยากแล้ว แถมเงินช่วยเหลือต่างๆ ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ ค่ารักษาพยาบาลต่างๆจากรัฐก็ไม่ได้รับ

            มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)ได้เห็นถึงปัญหาของคนเฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยบนดอยสูง จึงได้พยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย

            กรณีของผู้เฒ่าอาเหลและภรรยา เป็นกรณีที่น่าศึกษาเพราะคนที่ถูกระบุว่าเกิดนอกประเทศ หากทำเรื่องรับรองสัญชาติไทย ต้องผ่านขั้นตอนการขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย และใบสำคัญถิ่นที่อยู่มาแล้ว 5 ปี จึงจะแปลงสัญชาติเป็นไทยไก้ ซึ่งทั้งสองขั้นตอนนี้มีความซับซ้อนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน อาจจะใช้เวลาถึง 20-30 ปี ผู้เฒ่าหลายคนอยู่บนแผ่นดินไทยมาตลอดชีวิต หรือ 50 ปี ยังไม่สามารถขอแปลงสัญชาติได้สำเร็จ

            การดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ในกรณีนี้ มูลนิธิพชภ. ได้มีการประสานความร่วมมือตั้งแต่ระดับพื้นที่ คือครอบครัวผู้เฒ่าอาเหล มูลนิธิพชภ. อำเภอไปจนถึงระดับผู้บริหารของกรมการปกครอง เนื่องจากต่างเห็นตรงกันว่า “ผู้เฒ่า” จำนวนมากที่เป็นคนดั้งเดิมแต่ยังเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติกำลังเผชิญความยากลำบากในการดำรงชีวิต แม้คนเหล่านี้ได้ช่วยพัฒนาบ้านเมืองมายาวนาน และมีลูก-หลานที่เป็นทรัพยากรอันสำคัญของประเทศ แต่ในยามแก่เฒ่ากลับไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร

            การแก้ไขข้อมูลของผู้เฒ่าอาเหลนั้น ทางอำเภอแม่จันได้ทำหนังสือหารือไปยังจังหวัด แล้วจังหวัดหารือไปยังกรมการปกครอง ซึ่งนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครองได้ตอบกลับมา โดยระบุตอนหนึ่งว่าเอกสารรายการใดที่บันทึกไว้ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยเจตนาทุจริต ย่อมสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยปฎิบัติตามระเบียบ อำเภอแม่จัน จึงดำเนินการตามหนังสือของกรมการปกครองดังกล่าว ผู้เฒ่าทั้งสองจึงจะได้ทำบัตรประชาชนไทย สมกับที่ได้รอคอยมานาน

            ในวันที่ 24 กันยายน นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมด้วยนายวีนัส สีสุข รองอธิบดีกรมการปกครอง ได้เดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอแม่จัน และจะมอบบัตรประชาชนให้กับผู้เฒ่าอาเหลและภรรยา

            ปัจจุบันมีคนเฒ่าไร้สัญชาติอีกกว่า 7.7 หมื่นคน ที่กำลังเผลิญชะตากรรมต่างๆ โดยเฉพาะบางส่วนถูกทอดทิ้งและไร้สวัสดิการจากรัฐเหมือนคนเฒ่าทั่วไป

            มีเพียงไม่กี่คนหรอกที่โชคดีอย่างผู้เฒ่าอาเหลและแม่เฒ่าอาหวู่มิ

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest