17 เมษายน 2568

เรื่อง ประชาชน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และนักวิชาการ ขอให้รัฐบาล ในการแก้ปัญหาแม่น้ำกก และแม่น้ำสายเป็นการเร่งด่วน

เรียน นส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปช.) ปัญหาแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ที่ไหลผ่านจากรัฐฉาน เมียนมา สู่จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่าขุ่นข้นและตรวจพบว่าปนเปื้อนสารโลหะหนัก นำมาซึ่งความกังวลเป็นอย่างยิ่งแก่ประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำ ทั้ง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และจ.เชียงราย เนื่องจากทั้ง 2 แม่น้ำนี้คือแหล่งผลิตน้ำดิบสำหรับน้ำประปาที่ประชาชนในอุปโภคบริโภค มีประชาชนที่พึ่งพาน้ำจากแม่น้ำกกประมาณ 1.2 ล้านคน เป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการเกษตร และเป็นแหล่งรายได้ของประชาชนหลายหมื่นครอบครัว

ณ ที่ต้นน้ำ มีรายงานว่ามีการทำเหมืองแร่อย่างมากมาย มีการเปิดหน้าดินอย่างกว้างขวางสามารถเห็นได้จาก google earth กรมควบคุมมลพิษ (ปี 2566) ระบุว่า พื้นที่ชายแดนภาคเหนือมีจุดเสี่ยงจากเหมืองแร่ฝั่งเมียนมา 14 จุด โดย 5 จุด อยู่ใกล้แม่น้ำที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทย จนบัดนี้ยังไม่พบว่ามีการแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้อย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ซึ่งรายงานของ World Health Organization (WHO) ระบุว่าการได้รับสารไซยาไนด์ในปริมาณ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว สามารถก่อผลกระทบทางสุขภาพได้ในระยะยาว นอกจากนี้เมื่อเดือนกันยายน 2567 ประชาชนลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย ได้เผชิญหายนะจากน้ำหลากท่วมและโคลนถล่มอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต สร้างความเสียหายรุนแรงและกว้างขวาง หลายครอบครัวต้องสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย อาชีพ โดยที่ยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุม ที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง ขณะนี้เราเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนก็จะเข้าสู่ฤดูฝน ประชาชนยังไม่เห็นมาตรการของรัฐในการรับมือและป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในเร็ววันนี้ สิ่งที่ประชาชนผู้ประสบภัยและนักวิชาการ เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งดำเนินการ มีดังนี้

  1. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาทั้งในแหล่งกำเนิดมลพิษ ระหว่างทาง และผู้รับผลพิษ จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำในจังหวัดเชียงราย
  1. เปิดเผยและซักซ้อมมาตรการรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำกก และลุ่มน้ำสาย อย่างเป็นระบบ มีส่วนร่วม และมีประสิทธิภาพ
  1. สร้างความร่วมมือกับประเทศเมียนมา หรือกองกำลังที่ดูแลในพื้นที่ เพื่อเพิ่มจุดเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน ตลอดลำน้ำกก น้ำสาย ทั้ง พื้นที่ต้นน้ำ ก่อนเหมืองในรัฐฉาน
  1. สร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใส เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจุบัน
  1. ขยายขอบเขตการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นการลุกล้ำหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ตลอดลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย
  1. เปิดการเจรจา 4 ฝ่ายคือ ไทย เมียนมา กองกำลังชาติพันธุ์ที่ควบคุมพื้นที่สัมปทานเหมือง และประเทศจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

คณะทำงานภาคประชาชนลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่