ความหวังของผู้เฒ่าอาข่า และการปรับเกณฑ์แปลงสัญชาติ ของกรมการปกครอง

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ทีมงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้เฒ่าอาข่าบ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้างหลังจากที่ได้เข้ารับการพิจารณาจากคณะทำงานกลั่นกรองพิจารณาผู้ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย และมีความคาดหวังอย่างไรกับกระบวนการที่จะเกิดขึ้นหลังจากยื่นคำร้อง

เราได้พูดคุยกับพ่อเฒ่าโหล่ชา อายี่กู่ ปัจจุบันอายุ 72 ปี ซึ่งพชภ. ได้เข้าไปช่วยเหลือและรวบรวมเอกสาร พ่อเฒ่ารายนี้เป็น 1 ในผู้ที่ยื่นคำร้องขอถือสัญชาติในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยพ่อเฒ่า กล่าวว่าตนรู้สึกดีใจที่ได้ก้าวไปสู่อีกหนึ่งขั้นตอนของการในการยื่นขอแปลงสัญชาติจากคณะจังหวัดฯไปยังอนุกรรมการของกรมการปกครองเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องและข้อมูลประกอบคำร้อง

พ่อเฒ่ากล่าวว่ารู้สึกมีความหวังที่จะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ตนเองอยู่ที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2519 รู้สึกว่าตัวเองเปรียบเสหมือนคนไทยคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย มีวิถีชีวิตอยู่ผืนแผ่นดินนี้และครั้งหนึ่งในชีวิตอยากที่จะรู้สึกว่าเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ผ่านการพัฒนาสิทธิของตน

“ตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ ต้องหลบซ่อนตัวเองจากเจ้าหน้าที่รัฐ เดินทางไปไหนแต่ละทีก็มีความรู้สึกหวาดกลัว ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากไปไหน บางครั้งก็โดนเอาเปรียบจากคนอื่น ด้วยความที่เราไม่มีบัตรประชาชน ตอนนี้พ่อเฒ่าอายุเยอะมากแล้ว จากที่เคยทำไร่ได้ทั้งวัน เดี๋ยวนี้ก็ไม่ไหว ร่างกายไม่แข็งแรงเหมือนเดิม คงจะดีถ้าได้รับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเหมือนพ่อเฒ่าแม่เฒ่าคนอื่น”พ่อเฒ่าโหล่ชาบอกถึงความหวังในบั้นปลายของชีวิต

การยื่นคำร้องขอถือสัญชาติไทยในตอนนี้มีการปรับเกณฑ์การพิจารณาโดยทางกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศการปรับปรุงแนวทางช่วยเหลือผู้เฒ่าไร้สัญชาติว่าจะมีการปรับดุลยพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวในการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แล้ว เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและต้องช่วยเหลือแก้ไขและหมู่บ้านป่าคาสุขใจก็เป็นหนึ่งในอีกหลากหลายหมู่บ้านที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล โดยจะมีการปรับเกณฑ์ดังนี้

1 การตรวจสอบประวัติ ให้ใช้พยานบุคคล 3 ราย แทนการตรวจสอบโดยหน่วยงาน

2 การมีภูมิลำเนาในประเทศไทยเกิน 5 ปี ให้ใช้หลักฐานหนังสือสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวรและหนังสือประจำตัวคนต่างด้าว

3 ความรู้ภาษาไทย ให้ยกเว้นการร้องเพลงชาติไทย

4 การมีอาชีพเป็นหลักฐาน ให้ยกเว้นเกณฑ์รายได้ และใบรับรองการประกอบอาชีพ โดยนายอำเภอเป็นผู้รับรอง

การปรับเกณฑ์ครั้งนี้จะทำให้ผู้เฒ่าที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถที่จะดำเนินการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติได้มากขึ้นและพ่อเฒ่าอาโหล่ชาก็เป็น 1 ใน 23 รายของผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติบ้านป่าคาสุขใจที่มีการพิจารณาโดยคณะกลั่นกรองฯ ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงรายเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา กล่าวว่ากลุ่มผู้เฒ่าทั้ง 23 รายนี้สามารถเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี เพราะการแปลงสัญชาติมีข้อจำกัดและขั้นตอนที่ยาวนานมากในสมัยก่อน ซึ่งต้องมีการทบทวนเกณฑ์ เพื่อทำให้ผู้เฒ่าสามารถยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างของพ่อเฒ่าโหล่ชาที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2519 แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสัญชาติ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ได้มีการปรับกฎเกณฑ์แล้วถือเป็นเรื่องดีของผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติทุกคน

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest