ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง-น้ำอิง สู่แรมซาร์ไซต์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดกิจกรรมร้อยด้ายผูกฮัก ร่วมพิทักษ์ผืนป่า สืบชะตาป่าชุ่มน้ำ The River Wetland day 2020  วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลกลุ่มน้ำอิง เพื่อ “ผลักดันพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง สู่แรมซาร์ไซต์” โดย นายทรงพล จันทะเรือง ประธานป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง และตัวแทนชุมชนกล่าวประกาศเจตนารมณ์ ได้แก่ ชุมชนม่วงชุม ชุมชนบุญเรือง ชุมชนห้วยสัก ชุมชนป่าบง ชุมชนทุ่งงิ้ว เพื่อยื่นขอเสนอให้กับตัวแทน ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.)จังหวัดเชียงราย

กล่าวว่า “ ขอประกาศเจตนารมณ์ขอประกาศเจตนารมณ์ที่จะปกป้องและคุ้มครองป่าริมน้ำอิงตอนล่าง เนื่องในวันพื้นที่ป่าชุ่มน้ำโลก วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ลุ่มน้ำอิงเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง แม่น้ำอิงเป็นแม่น้ำสายหลักที่มีต้นน้ำมาจากดอยหลวง รวมความยาว 260 กิโลเมตร ตลอดความยาวของแม่น้ำอิงมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากมาย โดยมีพื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการขึ้นทะเบียนระดับนานาชาติ ได้แก่ กว๊านพะเยา และหนองเล็งทราย พื้นที่ชุ่มน้ำในระดับท้องถิ่นอีกประมาณ  400 แห่ง ลุ่มแม่น้ำอิงตอนล่างพบป่าชุ่มน้ำ เป็นป่าที่น้ำสามารถท่วมถึง มีพืชนานาชนิดที่ทนต่อน้ำท่วม น้ำขังได้ยาวนาน ป่าชุ่มน้ำเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ปลาที่สำคัญในช่วงน้ำหลาก ปลาจากแม่น้ำโขงและในน้ำอิงจะขึ้นมาวางไข่ และอาศัยเป็นแหล่งอนุบาลของปลาขนาดเล็ก ในช่วงน้ำลดป่าชุ่มนน้ำมีพืชหลากหลายทั้งพืชสมุนไพร และพืชกินได้ ป่าริมน้ำยังสำคัญต่อสัตว์ป่า เพราะเป็นระบบนิเวศรอยต่อของป่าลุ่มน้ำกกและน้ำอิง นอกจากนี้ป่าชุ่มนน้ำยังเป็นแหล่งสำคัญในการรองรับนกอพยพในช่วงฤดูหนาว การศึกษาข้อมูลป่าริมแม่น้ำอิงตอนล่าง 17 แหล่ง พบพื้นที่ชุ่มน้ำ ประมาณ 8,590 ไร่ ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ตั้งแต่ดอยหลวงถึงอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

จากความสำคัญของลุ่มน้ำอิงกับทางประชาชนลุ่มน้ำอิงและเครือข่ายภาคประชาสังคม จึงขอประกาศเจตนารมณ์ที่จะปกป้องและคุ้มครองป่าริมน้ำอิงตอนล่าง โดยการผลักดันขึ้นทะเบียนป่าริมน้ำอิงตอนล่าง ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์การใช้พื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิงอย่างยั่งยืน 1.ด้านอาหาร 2.แหล่งกักเก็บน้ำ 3.แหล่งอนุบาลสัตว์ 4.แหล่งที่อาศัยของสัตว์ป่า 5.แหล่งกักเก็บคาร์บอน 6.สถานที่พักผ่อน 7.แหล่งในการศึกษาวิจัยของนักศึกษา นักวิจัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไป ประกาศ ณ ป่าริมอิงป่าบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ด้วยจิตคารวะสภาประชาชนลุ่มแม่น้ำอิง และเครือข่ายประชาสังคม ”

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทสจ.)จังหวัดเชียงรายกล่าวว่า… “ในฐานะของผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนโยบาลแห่งรัฐ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน นี่คือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ผมรับภาระนี้ที่จะไปผลักดันต่อ และจะนำเสนอสารนี้ต่อท่านคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้สำนักงานและแผนได้ผลักดัน ประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ โดยเร็ว”

ความอบอุ่นจากเครือข่ายต้นน้ำถึงปลายลุ่มน้ำอิง…เมื่อได้มารวมกับชุมชนบุญเรือง ชุมชนม่วงชุม ได้เป็นเครือข่ายเดียวกัน ก็รู้สึกดีใจ จากเมื่อก่อนคิดว่าการอนุรักษ์ป่าทำอยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียวอยู่ปลายน้ำอิง เมื่อได้มาร่วมเครือข่าย มีตั้งแต่ต้นน้ำจากกว๊านพะเยาจนถึงปลายลุ่มน้ำอิงเป็นเครือข่ายอันเดียวกัน ก็ยิ่งมีกำลังใจในการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำ “ป่าคือความสุข ป่าคือชีวิต ป่าคือวิญญาณ ป่าให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติทั้งโลก ป่าทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลง” 


คุณค่าระบบนิเวศป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงบ้านบุญเรืองในระดับสังคม เปรียบเสมือนมดลูก ปู ปลาต่าง ๆ เข้ามาอยู่อาศัยออกลูกออกหลาน และไปเติมประชากรให้แม่น้ำอิงและแม่น้ำโขงด้วย โดยเฉพาะวิกฤตน้ำโขงที่แห้งแล้ง ประชากรปลาในแม่น้ำสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ป่าชุ่มน้ำที่มีวังปลา 66 แห่ง ต้องแสดงบทบาททางระบบนิเวศมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณค่าอันยิ่งใหญ่สำหรับคนลุ่มแม่น้ำอิง และในระดับสากล เรากำลังสู้กับวิกฤตโลกร้อน เรามีความหวังจากประชาชนอย่างพวกเราในการรักษาป่าเดิม เพิ่มเติมป่าใหม่ เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนให้คงอยู่ และผลักดันให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์ในระดับสากล

นายพงษ์ศักดิ์ สิทธิบุญมา ผู้แทนจากกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ชุมชนบุญเรืองอยู่กับป่า เป็นแหล่งประกอบอาชีพ รายได้ พึ่งพาอาศัยป่าเป็นวิถีชีวิต ซึ่งพื้นที่ป่าเป็นซุปเปอร์ มาร์เก็ต ก็ต้องการน้ำมาหล่อเลี้ยง เพราะฉะนั้น ต้องทำให้คนในพื้นที่รู้สึกมีความรัก ความผูกผันในพื้นที่และความเป็นเจ้าของ

นายวัชรพล วารินทร์ ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า “ป่า คือ ปอดของคนบ้านเรา ของคนเชียงราย” ป่าบ้านบุญเรือง ป่าบ้านม่วงชุ่ม การรักษาป่าชุ่มน้ำ อาศัยความต้องการของคนในพื้นที่ให้เป็นพื้นฐาน เห็นความสำคัญของป่าในการอนุรักษ์ในการรักษาป่าไว้ และอีกยังภาคีเครือข่ายที่มีความเห็นตรงกันในการที่จะดูแลรักษาป่าชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง ซึ่งการจะขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ต้องเป็นคนเริ่มก่อน เพื่อให้ระดับนานาชาติได้เห็น รับรู้สถานการณ์การบุกรุกและความเสือมโทรมของลุ่มน้ำอิง

นายวิชาญ พิวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก หมู่ 9 ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย กล่าวว่า เมื่อได้เห็นพื้นที่ป่าของบ้านบุญเรือง แล้วนึกถึงตัวเองแล้วน้ำตาจะไหล เพราะว่าสมัยเป็นเด็ก (ละอ่อน) เลี้ยงควาย ป่าที่ห้วยสักเป็นป่าส้มแสง ตอนนี้ชาวบ้านรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีสถานการณ์ที่รุนแรงพอสมควร ชาวบ้านบางส่วนได้ขายพื้นที่ทำกิน พื้นที่จับจอง และป่าส้มแสง บางส่วนได้ถูกนายทุนของบริษัทใหญ่บริษัทหนึ่ง ได้มาซื้อไปแล้วประมาณ 2,000 ไร่ ตอนนี้กำลังต่อสู้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริง เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ 2,000 ไร่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นป่าหวงห้าม ในตอนนี้พื้นที่กำลังฟื้นเป็นป่าเหล่า การต่อสู้ยังไม่สำเร็จออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงยังไม่ได้

ผู้ใหญ่วิชาญ ยังได้กล่าวฝากถึงคนในพื้นที่ว่า ให้เป็นหูเป็นตาดูแลที่ดินสาธารณะที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หรือเป็นที่ นสล. แล้วก็ดี ก็จะมีคนเห็นแก่ตัวบางคน บางกลุ่ม ที่คอยจะฉกฉวยโอกาส โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบดูแล ดูแลแทนพวกเราไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้น เรามีพื้นที่แล้วก็ช่วยกันดูแลรักษาต่อไป

ภารกิจร่วมของเครือข่ายการทำงานร่วมกันในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอิง “ นโยบายของสภาประชานลุ่มแม่น้ำอิงที่จะปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อจากการยื่นขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำแล้วคือ การสร้างพื้นที่ป่าสีเขียวริมแม่น้ำอิง 5-10 เมตร ตลอดทั้งสาย จะให้เกิดความชื้น น้ำก็ไม่ระเหยมาก น้ำอิงจะมีความอุดมสมบูรณ์ และระบบนิเวศต่าง ๆ ก็จะกลับคืนมา ซึ่งเรื่องนี้เราทำได้ เพราะว่าเรามีเครือข่ายไม่ว่าจะอยู่ต้นน้ำหรือปลายน้ำ คือ การสร้างพื้นที่สีเขียว อบต. เทศบาล. โดยการเพิ่มในเทศบัญญัติ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ” นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว (ครูตี๋) ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวทิ้งท้าย

————-

นายธนวิชญ์ แก้วจ้อน นักศึกษาฝึกงานสาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest