“ป่าชุ่มน้ำ” หัวใจแม่น้ำอิง

เมื่อกลางเดือนกันยายน 2562 คณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดเชียงราย ได้ประชุมและลงพื้นที่หมู่บ้านงามเมือง ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่อนุรักษ์พื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ลุ่มแม่น้ำอิง เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นการผลักดันการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิง โดยมีเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิงเข้าร่วมจาก 4 หมู่บ้าน


ตัวแทนหมู่บ้านงามเมือง กล่าวว่าในพื้นที่อนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำบ้านงามเมืองนั้น ได้เริ่มทำการอนุรักษ์พันธุ์ปลาในปี พ.ศ. 2544 โดยการปิดพื้นที่ไม่อนุญาตให้จับสัตว์น้ำ และได้จัดพื้นที่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา เรียกว่า วังปลา และนอกจากจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาแล้ว พื้นที่ป่าชุ่มน้ำบ้านงามเมือง ยังสามารถพบสัตว์ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น เสือปลา นากน้ำ และยังมีสัตว์อีกหลากหลายชนิด เช่น นกเป็ดน้ำ กุ้งก้ามกาม งูเหลือม งูสิงห์ ผึ้ง ต่อ มิ้น แตน กระรอกแดง เป็นต้น


เอกสารของคณะทำงานฯ ระบุว่าประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำอิง ได้รวมกลุ่มกันเพื่อขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนล่างทั้งหมด 6 หมู่บ้าน โดยมีบ้านทุ่งงิ้ว อ.เชียงของ, บ้านม่วงชุม อ.เชียงของ, บ้านบุญเรือง อ.เชียงของ, บ้านงามเมือง อ.ขุนตาล, บ้านป่าบง อ.ขุนตาล และบ้านทุ่งศรีเกิด อ.ขุนตาล รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดกว่า 3,043 ไร่ 
ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการประชุมคณะยุทธศาสตร์เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานยื่นเรื่องต่อสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 จังหวัดเชียงรายและศูนย์เพาะเลี้ยงประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงราย เพื่อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์พืชและพันธุ์ปลา ยืนยันความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์ปลาในเขตพื้นที่ทั้ง 6 หมู่บ้านดังกล่าวเพื่อทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ป่าชุ่มน้ำในขั้นตอนต่อไป


ตัวแทนหมู่บ้านงามเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในหมู่บ้านพยายามอย่างเต็มที่เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าชุ่มน้ำกันอยู่แล้ว แต่การรวมกลุ่มกันเพื่อขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในครั้งนี้ จะเป็นเกราะป้องกันที่สามารถปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิงได้อย่างแท้จริง


นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และกรรมการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวถึงคุณค่าของพื้นที่ป่าชุ่มน้ำไว้ว่า เป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์น้ำ และมีความหลากหลายทางพันธุ์พืชซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตชุมชน ในปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้ถูกบุกรุกโดยมนุษย์ ทำให้ความสมดุลย์ของป่าหายไป พันธุ์พืช พันธุ์ปลาต่างๆก็อาจจะสูญพันธุ์ไปด้วย การผลักดันประเด็นการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำในลุ่มน้ำอิงครั้งนี้จึงสำคัญต่อความอยู่รอดของพืช สัตว์ และชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงเป็นอย่างมาก


อนึ่งข้อมูลของคณะทำงานฯ ระบุว่าแม่น้ำอิง มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ เขต อ.แม่ใจ จ.พะเยา ไหลผ่าน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว อ.จุน และเข้าสู่ จ.เชียงรายที่ อ.ป่าแดด ไหลขึ้นเหนือผ่าน อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านปากอิง ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงราย จ.เชียงราย แม่น้ำอิงมีความยาวทั้งหมด 136 กิโลเมตร และมีพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ กว่า 17 แห่ง รวมเป็นพื้นที่ 8,590 ไร่ ในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง

ขอบคุณรูปประกอบ จากเครือข่ายลุ่มน้ำอิง

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest