วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ขอของขวัญให้ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ

ใต้ต้นไทรใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านใบ ให้ความร่มรื่น ผู้เฒ่าไร้สัญชาติเกือบห้าร้อยคน มาประชุมกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ด้วยสีหน้าแห่งความหวัง ว่าในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตซึ่งได้อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทยมาแล้ว 30 – 60 ปี ภายใต้พระบารมีของเจ้าพ่อหลวง ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหา กำหนดนโยบายเร่งด่วน ให้แก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติโดยเร็ว โดยให้สถานะทางกฎหมายที่เหมาะสม คุ้มค่ากับความดีที่ผู้เฒ่าได้ปลูกฝังคุณธรรม ภูมิปัญญา แก่ลูกหลานชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้เป็นพลเมืองผู้จงรักภักดีต่อประเทศ

วันอังคารที่ 10 เมษายน 2555 คือวันมงคลที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ร่วมกับหน่วยงานสนับสนุน คือ โครงการสุขภาวะชุมชนลุ่มน้ำภาคเหนือ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ได้เปิดประเด็น “ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ” เป็นครั้งแรก โดยจัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติขึ้น ณ “บ้านใกล้ฟ้า” ศูนย์การเรียนรู้ของมูลนิธิ พชภ. ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านป่าคาสุขใจ ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

แรงบันดาลใจของการเปิดประเด็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติให้สังคมได้รับรู้ คือ การที่ มูลนิธิ พชภ. ได้ทำงานในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จัน – แม่สลอง และร่วมกับเครือข่ายในภาคเหนือมาแล้ว 25 ปี เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาที่ผู้เฒ่าได้ปลูกฝังให้ลูกหลาน เคารพธรรมชาติ ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารด้วยวิถีพอเพียง ผู้เฒ่าหลายคนได้ลาจากโลกนี้ไป โดยไม่มีสถานะเป็นคนไทย แม้จะเกิดบนดอยหรืออพยพเข้ามาอยู่หลายสิบปีแล้ว เพราะสมัยก่อนผู้เฒ่าไม่เคยคิดว่าการมีสัญชาติไทยจะมีความสำคัญต่อสิทธิและสวัสดิการในชีวิต
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ คือ
1. ผู้สูงอายุได้มีพื้นที่สะท้อนปัญหาของตนเองให้สังคมได้รับรู้
2. ได้เผยแพร่ข้อมูลปัญหาของผู้สูงอายุต่อสื่อสาธารณะ
3. ได้เสนอการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย กฎหมาย และการปฏิบัติระดับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

ผลการสำรวจโดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ พชภ. ในพื้นที่สุ่มตัวอย่างในจังหวัดเชียงราย 3
อำเภอ คือ อำเภอแม่ฟ้าหลวง สำรวจใน ตำบลแม่สลองนอก เกือบทุกหมู่บ้าน พบว่ามีผู้เฒ่าไร้สัญชาติ 344 คน ส่วน อำเภอแม่จัน สำรวจในตำบลป่าตึง เฉพาะหมู่ 17,19,20 พบผู้เฒ่าไร้สัญชาติ 28 คน อำเภอเชียงของ สำรวจใน ตำบลริมโขง และ ตำบลเวียง เฉพาะบางหมู่บ้านพบผู้เฒ่าไร้สัญชาติ 59 คน รวมที่สำรวจพบผู้เฒ่าไร้สัญชาติ 431 คน

ประเภทของการไร้สัญชาติแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและบัตรถิ่นที่อยู่ รวม 240 คน คิดเป็น 55.68 %
ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรหัว 6) รวม 154 คน คิดเป็น 35.73 %
ถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรหัว 0) รวม 9 คน คิดเป็น 2.09 %
เป็นบุคคลตกหล่นจากทะเบียนราษฎร (ไม่มีบัตรใด ๆ ) รวม 28 คน คิดเป็น 6.50 %
ผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่เป็นหญิง จำนวน 263 คน คิดเป็น 61.02 % เป็นชาย 168 คน คิดเป็น 38.98 %

กรณีศึกษาผู้เฒ่าที่ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าว ซึ่งมีมากที่สุดถึง 55.68 % พบว่าผู้เฒ่าซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศ 30 – 60 ปี หรือบางคนเกิดในประเทศไทย ได้ถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวร ตั้งแต่ พ.ศ.2546 แต่ไม่สามารถแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ เนื่องจากเกณฑ์ประกอบการใช้ดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ซึ่งกำหนดให้คนต่างด้าวต้องมีรายได้ เดือนละ 20,000 – 40,000 บาท ต้องมีใบจ้างงานของนายจ้าง และต้องมีหลักฐานการเสียภาษีไม่น้อยกว่าสามปี

ผู้เฒ่าเหล่านี้อยู่ในวัยร่วงโรย เสมือนไม้ใกล้ฝั่ง ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นเม็ดเงินได้อีกแล้ว มีแต่ประสบการณ์ชีวิตอันทรงคุณค่าที่จะมอบไว้ในอนุชนรุ่นหลัง

ส่วนผู้เฒ่าที่ถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย บัตรผู้ไม่มีสานะทางทะเบียน หรือเป็นผู้ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร รัฐบาลโดย มท.1 ควรเร่งศึกษาสภาพปัญหา และกำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะช่วยผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้ ให้ได้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสวัสดิการจากรัฐบาลกลาง และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ท่านได้ชื่นใจและสบายใจได้ว่าในอนาคต เมื่อยามที่ท่านจะลาจากโลกไป ท่านจะได้นอนตายตาหลับ

ตัวอย่างผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กลุ่มถือบัตรต่างด้าว คือ พ่อเฒ่าอาเหล งัวผ่า ชาวลีซู วัย 74 ปี แห่งบ้านเฮโก หมู่ 19 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งยืนยันหนักแน่นว่าเกิดที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านแม่สลอง เมื่ออดีตทหารจีนคณะชาติมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านสันติคีรี ชาวลีซูผู้รักสงบ จึงย้ายมาอยู่ที่บ้านเฮโกจนถึงปัจจุบัน

ผู้เฒ่าอาข่าแห่งบ้านป่าคาสุขใจ ซึ่งถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าว ตั้งแต่ พ.ศ.2546 มีจำนวน 28 คน

กรณีผู้เฒ่าซึ่งตกหล่นจากระบบทะเบียนราษฎร คือ นาย หลี่เฉียวเสอ แซ่ลี วัย 89 อดีตทหารจีนคณะชาติ ซึ่งพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แม้ว่าอยู่เมืองไทยมา 50 ปี เพราะมีอาชีพเกษตร ทำเกษตรปลอดสารเคมี และยังทำสวนลิ้นจี่ ปลูกผักไว้กินตลอดปี ไม่ค่อยได้เดินทางไปนอกหมู่บ้าน แม้จะเคยมีชื่อในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เคยยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวคนต่างด้าว เมื่อ พ.ศ. 2550 แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ และไม่ได้เข้ารับการสำรวจครั้งล่าสุดตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.2548 จึงกลายเป็นบุคคลตกหล่นทางทะเบียน

กรณีผู้เฒ่าซึ่งถือบัตรผู้ไม่มีสัญชาติไทย คือ อาผี่หมี่หน่อง วัย 91 ปี แห่งบ้านป่าคาสุขใจ ซึ่งเป็นผู้เฒ่าอายุมากที่สุดในชุมชนอาข่า แห่งดอยแม่สลอง อาผี่หมี่หน่องเป็นผู้นำทางประเพณีฝ่ายหญิง ทุกพิธีกรรมจะต้องเชิญแม่เฒ่าไปเป็นหลักในงาน แม่เฒ่าพูดไทยไม่ได้ แม้จะอยู่ในประเทศไทย ราว 40 ปี แล้ว จึงรอความหวังที่รัฐบาลไทย จะใส่ใจกับสวัสดิการผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เป็นวาระหลักของชาติ

เช่นเดียวกับพ่อเฒ่า แซ่งลิ่น แซ่เติ๋น กับภรรยาเป็นชาวเมี่ยน (เย้า) ทั้งสองคนอยู่ บ้านโป่งป่าแขม หมู่ 20 ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งอพยพเข้ามาจากประเทศลาวเกือบ 60 ปี แล้ว เคยได้รับการสำรวจแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง เมื่อ พ.ศ. 2534 อยากให้รัฐบาลเร่งให้ได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์โดยเร็ว

ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการบังคับใช้กฎหมายและการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา คือ สว.สุพจน์ เลียดประถม ได้รับจดหมายสะท้อนปัญหา และข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาจากตัวแทนผู้เฒ่าไร้สัญชาติ เพื่อนำไปดำเนินการระดับนโยบายต่อไป รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ(สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) นายปิ่นชาย ปิ่นแก้ว และ นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผู้แทนสำนักงานปฏิรูปและเลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งได้รับรู้สถานะการณ์ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ จากการไปเยี่ยมถึงหมู่บ้านและจากข้อมูลในเวทีวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ทุกท่านรับจะร่วมมือในการแก้ไขปัญหาระดับชาติอย่างต่อเนื่อง

ถุงของขวัญผู้เฒ่าไร้สัญชาติ จาก มูลนิธิ พชภ. และวุฒิสภา นำมาซึ่งรอยยิ้มแห่งความตื้นตันใจของผู้เฒ่าทุกคนที่มาร่วมงาน ด้วยความหวังว่าปัญหานี้จะได้รับการยกระดับเป็นปัญหาระดับชาติ และเกิดกลไกการร่วมกันแก้ปัญหา โดยทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง

เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest