ช่วงชีวิต พชภ.

ยุค กอ.ไก่ ขอ.ไข่

เสียงหมาเห่าดังเกรียวกราวไปทั้งหมู่บ้าน เมื่อมีคนแปลกหน้าเดินทางมาเยี่ยมเยือน มีเด็กๆ ผู้เฒ่า ผู้แก่ มามุงดูกันเป็นขบวน หน้าตาช่างไม่เหมือนพรรคพวก แบกเป้ใบใหญ่ สะพายถุงย่าม เหงื่อโชกไปทั้งตัว และคนในจำนวนนี้ก็เริ่มแนะนำตัวว่า “พวกเรามาจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขาของครูแดงไง จะมาอยู่ในหมู่บ้านของพวกเรา จะมาเป็นครูสอนหนังสือภาษาไทยให้พวกเรานะ” จากนั้นก็ตามด้วยภาษามือภาษาไม้เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ เพราะชุมชนยังพูด ฟัง ภาษาไทยไม่ได้ จากนั้นชาวบ้านก็พาไปยังบ้านผู้นำของหมู่บ้าน ค่ำคืนนั้นเองก็ได้ยินเสียงป่าวประกาศของผู้นำที่เรียกลูกบ้านมาชุมนุมกันที่บ้าน บรรยากาศจึงดูคึกคักเป็นพิเศษ สำหรับค่ำคืนนั้นมีเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ ทั้งชายหญิงมาชุมนุมกัน เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้า ผู้นำของหมู่บ้านจึงเริ่มพูดเป็นคนแรกด้วยภาษาประจำเผ่าว่า “คืนนี้ที่เรียกทุกท่านมาประชุมกันที่นี่นั้น เพราะว่าหมู่บ้านของเราจะมีครูมาอยู่แล้ว จะมาสอนหนังสือชาวบ้านเราจะได้พูดภาษาไทยเป็น” มองดูใบหน้าของทุกคนช่างอิ่มเอิบดีใจ มีการพูดคุยซักถามเรื่องราวต่าง ๆ มากมายตามมาจนเสร็จสิ้นการประชุม

พอวันรุ่งขึ้น พวกผู้ชายได้แบกจอบบ้าง ถือมีดบ้าง ถือเสียมบ้าง มารวมกันที่ลานหมู่บ้าน ผู้นำได้แบ่งหน้าที่ให้ทุกคนทำ บางคนไปตัดไม้ บางคนขุดดินปรับที่ เพื่อทำการสร้างโรงเรียนและบ้านพักของครู หลังจากได้ตกลงกันเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาแล้ว ทุกคนมีความขยันขันแข็งและดูมีความสุขกันเหลือเกิน โรงเรียนและบ้านพักครูถูกสร้างแล้วเสร็จภายในสองสามวันด้วยรูปทรงง่ายๆ แต่ดูมั่นคงแข็งแรงดี หลังจากนั้นครูก็ลงมือกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อใช้ในวันแรกและวันต่อ ๆ ไป โดยกลางวันสอนเด็ก ๆ ส่วนกลางคืนสอนผู้ใหญ่ โรงเรียนจึงเป็นจุดศูนย์กลางของเด็ก ๆ ของชาวบ้านที่จะมาเรียนหนังสือและมาเล่น ส่วนกลางคืนโรงเรียนเป็นจุดศูนย์กลางแห่งเดียวของหมู่บ้านที่มีแสงสว่างจัดจ้าจากตะเกียงเจ้าพายุดวงเดียวในหมู่บ้าน ครูอยู่ในหมู่บ้านด้วยความอบอุ่นใจ กลางคืนหลังจากการสอนหนังสือมีผู้เฒ่าผู้แก่มาคุยเป็นเพื่อนที่โรงเรียน หรือไม่ครูเองก็เป็นฝ่ายไปเยี่ยมชาวบ้าน พูดคุยกับชาวบ้านท่ามกลางความอบอุ่นรอบเตาไฟ พูดคุยไปจิบน้ำชาไป ชาวบ้านรุมกันถามด้วยความสนใจครูคนใหม่ ด้วยเนื้อหาสาระต่าง ๆ “ครูอยู่กับพวกเรานานไหม? ครูอย่าไปไหนนะ? ถ้าครูกลับแล้วใครจะมาอยู่แทน?” เป็นคำถามจากชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีให้ยินดีเสมอ อาหารการกินครูแทบไม่ได้ซื้อและทำเลย ในแต่ละมื้อแต่ละวันจะมีชาวบ้านคนโน้นคนนี้มาชวนไปกินข้าวด้วยที่บ้านเสมอ แต่ครูก็ไม่ลืมที่จะหิ้วอาหารไปสมทบด้วย เช่น ไข่ ปลาทู ปลากระป๋อง ด้วยความเกรงใจ

ในช่วงแรกนั้น เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ (ครู) จะอยู่ในหมู่บ้านราว 25 วันต่อเดือน จะออกจากหมู่บ้านก็ต่อเมื่อต้องมาประชุมประจำเดือนและพักประจำเดือน เดือนละ 5 วัน การเดินทางจะเดินทางด้วยเท้าไปบนทางเดินเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านช่วยกันทำไว้ หรือบางเส้นทางแค่ถางหญ้าออกพอให้เห็นเป็นทาง บางหมู่บ้านที่ไกลหน่อยก็จะมีชาวบ้าน หรือเด็ก ๆ เดินทางมาส่งครูเป็นขบวนจนถึงถนนใหญ่ หรือจุดที่ชาวบ้านและเด็กคิดว่าครูคงเดินเองได้แล้วและปลอดภัย มีการนัดหมายวันเวลาที่จะมารับครู ถ้ามีสัมภาระมากชาวบ้านก็จะนำม้ามาช่วยต่างของไป นี่เป็นน้ำใจที่ชุมชนมอบให้กับครูผู้เสียสละ ในแต่ละเดือนของการประชุม เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้สึกดีใจและได้สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน “เป็นอย่างไรบ้างหมู่บ้านของเธอ นักเรียนพูดภาษาไทยได้กี่คน ผู้เฒ่าผู้แก่พูดภาษาไทยได้กี่คนแล้ว ได้ยินเสียงหืนเสียงระเบิดหรือเปล่า ปลอดภัยดีไหม” และอื่น ๆ อีกมากมาย หลังประชุมเสร็จทุกคนก็กลับไปหมู่บ้านของตนเอง ขวัญและกำลังใจจากเพื่อนร่วมงาน

จากการดำเนินงานช่วงแรก 5 หมู่บ้าน ได้ขยายเป็น 10 หมู่บ้าน ตามการร้องขอของชาวบ้าน จำนวนเจ้าหน้าที่ก็เพิ่มขึ้นตามพื้นที่และปริมาณงาน ไม่เพียงแต่จัดการเรียนการสอนเท่านั้น บทบาทของเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์และสภาพปัญหาของชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและพัฒนาระบบการเกสรให้มีความเหมาะสมและยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพองค์กร ชุมชน และการติดต่อประสานงานหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนถึงในขณะนี้ชาวบ้านพูดภาษาไทยได้มากขึ้น เด็กและเยาวชนฟัง พูด อ่านภาษาไทยได้มากขึ้น และได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

เวลาผ่านไปกว่า 10 ปี ความเจริญในด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เริ่มหลั่งไหลเข้าไปสู่ชุมชนตามนโยบายของรัฐ มีถนน มีไฟฟ้าและสื่อต่าง ๆ มากมาย เป็นตัวเร่งเร้าให้ชุมชนสนใจและยอมรับการพัฒนาสมัยใหม่ในที่สุด เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัว ทางหนึ่งแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน อีกทางหนึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ถึงตอนนี้บทบาทของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงครูสอนหนังสือและอยู่ในหมู่บ้านเท่านั้น ต้องเป็นนักคิด นักประสานงาน และนักจัดการไปในตัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่ทำอยู่แค่ลุ่มน้ำแม่จัน-แม่สลองเท่านั้น ต้องขยายเครือข่ายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ปัญหาใหม่ ๆ ที่ยุ่งยางซับซ้อนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ต้องดำเนินกิจกรรมอย่างรอบด้านเพื่อให้สังคมมนุษย์ สัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติ อยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูลและสมดุล

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest