“อย่าทอดทิ้งประชากรกลุ่มเปราะบางไว้ข้างหลัง” เสียงจากเวทีวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งประชากรสูงอายุจะมีมากกว่าวัยเด็ก จนอาจเกิดปัญหาขาดแคลนประชากรวัยทำงานในอนาคต แต่ขณะเดียวกัน ประชากรสูงวัยก็เป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองดูแลจากภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เป็นคนชายขอบของสังคม

รายงานของสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่าปี พ.ศ.2558-2573 เป็นช่วงที่ไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย เพราะมีดัชนีการสูงวัยสูงกว่าร้อยละ 68.77 ทำให้รัฐบาลมีนโยบายดูแลผู้สูงวัยที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มผู้สูงอายุในเขตภูเขา ซึ่งได้แก่สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือ เป็นประชากรเปราะบางที่ไม่ได้รับโอกาสหรือความคุ้มครองที่ควรจะได้ เพราะมีปัญหาตกสำรวจและมีสภาพเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้จะเกิดและเติบโต รวมถึงใช้ชีวิตอย่างผูกพันกับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน

มูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา (พชภ.) รวมถึงภาคีเครือข่าย เป็นเจ้าภาพจัดงานวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติขึ้นที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย วันนี้ (13 มกราคม) ซึ่งตรงกับวันเด็กแห่งชาติ จึงได้มีการจัดงานวันเด็กขึ้นพร้อมกัน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าประชากรเด็กและผู้สูงวัย เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากสังคมและภาครัฐ เพราะวัยเด็กเป็นกลุ่มที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ส่วนผู้สูงวัยที่เคยเป็นกำลังแรงงานให้แก่ประเทศก็อยู่ในช่วงสุขภาพเสื่อมถอย จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองดูแลเช่นกัน

นายรัชตะ เกษมสุขใจ ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจ บนดอยแม่สลอง เปิดเผยในเวทีเสวนาวันผู้เฒ่าไร้สัญชาติว่า ขณะนี้ยังมีผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากประสบปัญหาไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย ทำให้ไม่สามารถรับการคุ้มครองหรือมีอิสระในการดำเนินชีวิต โดยเขาได้ยกตัวอย่างกลุ่มผู้เฒ่าเชื้อสายอาข่า หลายคนไม่มีสถานะทางกฎหมาย เนื่องจากบางคนไม่ได้แจ้งเกิด และเมื่อมีการสำรวจประชากรหรือดำเนินการขึ้นทะเบียนบุคคลจากทางการไทย ก็มีกลุ่มคนที่ตกสำรวจ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นคนไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ

นายพอ อาแม ชาวอาข่าแห่งบ้านป่าคาสุขใจ วัยกว่า 70 ปี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องเงินแห่งหมู่บ้าน เปิดเผยกับ “วอยซ์ออนไลน์” ในระหว่างลงพื้นที่ในดอยแม่สลอง โดยผู้เฒ่ากล่าวด้วยภาษาไทยกลางผสมคำเมืองพื้นถิ่นทางเหนือว่าลูกหลานทั้งหมดของตนได้รับสัญชาติกันหมดแล้ว ส่วนใหญ่เดินทางออกไปค้าขายและประกอบอาชีพนอกหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครอยากสืบสานอาชีพทำเครื่องเงินต่อ ขณะที่ตนเองประสบปัญหาถูกเรียกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่บ้างในเวลาที่เดินทางไปซื้ออุปกรณ์ประกอบการทำเครื่องประดับเงินนอกพื้นที่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ได้รับการคุ้มครองเรื่องสถานะบุคคล เพราะจะได้มีอิสระในการใช้ชีวิตหรือประกอบอาชีพมากขึ้น

“แก่แล้ว พูดไทยไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมีบัตร”

จากการลงพื้นที่เพิ่มเติม ‘วอยซ์ออนไลน์’ พบว่าชาวอาข่าที่เป็นผู้หญิงสูงวัย ไม่มีสถานะบุคคลเพราะธรรมเนียมของเผ่าสมัยอดีต ไม่นิยมให้ผู้หญิงออกบ้าน ทำให้ผู้หญิงอาข่าไม่ได้รับการสนับสนุนให้ยื่นเรื่องขอสถานะบุคคลกับทางการไทย แม้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา กลุ่มประชากรชาวอาข่าที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีลงไป จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลโดยทางการไทยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนว่าเป็นผู้เกิดในไทย ผู้อยู่อาศัยถาวรในไทย รวมถึงการมอบสัญชาติให้อย่างเป็นทางการ แต่กลุ่มผู้หญิงสูงอายุเหล่านี้ยังคงเป็นบุคคลตกสำรวจเช่นเดิม

นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มเปราะบาง และไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะเกิดในไทย แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยกับเจ้าหน้าที่ของทางการไทยได้ ในอดีตจึงมักถูกบันทึกเป็นชาวพม่า และไม่มีศักยภาพที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ ขณะที่ลูกหลานเองก็มองข้ามความสำคัญที่จะพาผู้เฒ่าเหล่านี้ไปขอสัญชาติ เพราะมองว่ากลุ่มผู้เฒ่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีบัตรหรือได้รับการรับรองสถานะบุคคล เพราะอายุมากแล้ว และไม่ได้เดินทางไปไหน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง กลุ่มเยาวชนหรือคนวัยทำงานของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อไปทำงานในที่ต่างๆ เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากได้รับสถานะบุคคลชัดเจนแล้ว แต่กลุ่มผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่สามารถโยกย้ายหรือเดินทางตามลูกหลานไปยังจังหวัดอื่นได้ เพราะผู้มีปัญหาสถานะจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ลงทะเบียนเอาไว้

ซึ่งนางเตือนใจ ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กำหนดให้ประเด็นผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นประเด็นขับเคลื่อนหลักในปีนี้ และจะต้องมีการเดินหน้าต่อไป เพราะผู้สูงวัยเป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง และต้องช่วยเหลือให้ได้สัญชาติ เพื่อให้ชีวิตในช่วงบั้นปลายที่เหลืออยู่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเต็มที่ ซึ่งในตอนนี้ได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพ แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนเบี้ยยังชีพ แม้ว่าผู้เฒ่าหลายคนจะประกอบคุณประโยชน์ด้านสังคมและวัฒนธรรมมาก่อนหน้านี้ก็ตาม

“ผู้เฒ่าและภัยความมั่นคง”

ด้านนางสาวนิติพรรณ แสงศิลา ตัวแทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ระบุว่าหน้าที่ของ สมช.คือการดูแลทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งเรื่องทหาร ความมั่นคงชายแดน ความมั่นคงทางทะเล และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ หากมองภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่าไม่ได้มีกลุ่มผู้เฒ่าในเขตภูเขากลุ่มเดียวที่มีปัญหาเรื่องไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่มีกลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น แรงงานข้ามชาติ ทั้งพม่า กัมพูชา และลาว ซึ่งมีหลายล้านคน รวมทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามชายแดนอีกแสนกว่าคน ทำให้การดำเนินงานของ สมช.ค่อนข้างล่าช้า เพราะจะต้องให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ อย่างเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มีการผลักดันยุทธศาสตร์ผู้หลบหนีเข้าเมืองขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการแก้ปัญหาสถานะบุคคลแก่ผู้ให้คุณประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งรวมถึงประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งมีความคืบหน้าเกิดขึ้น แต่ปัญหาที่ยังตกค้างในตอนนี้อยู่ระหว่างทบทวนการทำงานและจะปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยในเดือนหน้า (กุมภาพันธ์) จะประเมินและสรุปผลเพื่อวางแนวทางการทำงานในระยะต่อไป

เมื่อมีการพูดถึงประเด็นความมั่นคง ได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างเวทีและผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งกลุ่มบุคลากรที่ทำงานด้านกฎหมายเพื่อให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในเขตภูเขา ระบุว่า เงื่อนไขของทางราชการไทยที่ระบุว่าต้องให้หน่วยข่าวกรองตรวจสอบพฤติกรรมของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติก่อนจะให้สถานะ ไม่น่าครอบคลุมถึงกลุ่มผู้สูงวัย และน่าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ หรือถ้ามีเบาะแสเรื่องบุคคลน่าสงสัยก็อาจจะเรียกร้องเป็นรายบุคคลไป น่าจะดีกว่าต้องบังคับให้ทุกคนไปเข้ารับการตรวจสอบจากหน่วยข่าวกรอง

นอกจากนี้ยังพบความยากลำบากในขั้นตอนการตรวจสุขภาพ เพราะเงื่อนไขของทางราชการไทยระบุว่าจะต้องมีการตรวจว่า ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติเหล่านี้มีเชื้อซิฟิลิสหรือไม่ และผลตรวจสุขภาพจะมีอายุใช้งานไม่เกิน 6 เดือน แต่กระบวนการทำงานด้านเอกสารของหน่วยงานรัฐซึ่งรับผิดชอบด้านสถานะบุคคลใช้เวลานานกว่า 6 เดือนในการดำเนินเรื่อง ทำให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติต้องเดินทางจากภูมิลำเนาซึ่งห่างไกลเพื่อไปตรวจร่างกายประกอบการดำเนินเรื่องขอสถานะบุคคลหลายครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่สะดวกและเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการตรวจสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวไป

ที่มา https://voicetv.co.th/read/B1izWLD4M

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest