เด็กดอยกินอะไรกัน

 

หมู่บ้านบนภูเขาเกือบทุกแห่งอยู่ท่ามกลางและรายล้อมด้วยธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลกับการใช้ชีวิตในชุมชน  อาหารจากป่า อาหารสดจากไร่ และสมุนไพรที่ชุมชนปลูกหรือหามาได้จากในป่า วิถีของชุมชนในอดีตมีแบบปฏิบัติอย่างอยู่พอดีกินพอดี แม้ว่าในบางครั้งจะพบกับความขาดแคลนบ้างก็ตาม

อาหารตามฤดูกาล

เป็นการสร้างความสมดุลร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในฤดูฝนมีอาหารอุดมสมบูรณ์ หน่อไม้จากป่า เห็ดจากป่า ยอดอ่อนของผักกาด/ฟักทอง  เด็กๆ ในหมู่บ้านได้บริโภคอาหารหลากหลายชนิด ในฤดูแล้งอาหารที่มักได้กินคือ ผักกาดตากแห้ง หน่อไม้ตากแห้ง ผักกูดและผักป่าที่ขึ้นตามสถานที่ชื้นแฉะ ยอดของเถาสะบ้าที่มีเฉพาะในฤดูแล้งเท่านั้น ชาวบ้านนำมาแกงกับพริก หรือไม่ก็หมกกับผักกาดบ้างพริกบ้างปลาบ้างสุดแท้แต่จะสามารถหาสิ่งใดได้จากในป่า

ของว่าง/อาหารตามธรรมชาติ

ของว่างตามธรรมชาติ ที่มักเห็นเด็กบนดอยกินกันเป็นประจำคือ อ้อย ซึ่งปลูกไว้เกือบทุกบ้าน ต้นของพืชตระกูลข้าวฟ่าง ซึ่งชาวบ้านปลูกไว้ตามขอบไร่เป็นพืชที่มหัศจรรย์มาก ด้วยว่าสามารถกินลำต้นของมันได้มีรสหวาน(คล้ายอ้อยแต่นุ่มกว่า เคี้ยวได้ง่ายกว่า และมีขนาดเล็กกว่า) มันยังมีดอกและเมล็ดเล็ก ๆ คล้ายข้าวฟ่างซึ่งไม่นิยมกิน มักจะนำไปใช้ทำพิธีกรรมต่าง ๆ  นอกจากนั้นก็มีถั่วลิสงคั่ว เมล็ดทานตะวันตากแห้ง เผือกนึ่ง มันสำปะหลังเผา เป็นต้น  ในฤดูฝนมักมีอาหารว่างที่เด็ก ๆ ชอบกันมาก คือ ข้าวโพดสาลีนึ่งหรือเผา แตงกวาสด แตงไทยสุกฝานเป็นชิ้น ๆ หอมหวานมาก

ขนมบนดอย

ขนมที่นิยมบนดอยคือขนมแป้งนึ่ง ที่นำแป้งบดห่อใบตองแล้วนำไปนึ่งให้สุก บ้างก็ใส่น้ำตาลอ้อย บ้างก็ไม่ใส่อะไรเลย เป็นของว่างที่พิเศษอย่างหนึ่งโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของชุมชน  บนดอยไม่มีมะพร้าวและหาน้ำตาลได้ยาก จึงมักไม่มีขนมที่ใส่มะพร้าว และไม่ใส่น้ำตาล  ใสช่วงเทศกาลพิเศษเช่น ปีใหม่ ตรุษจีน ชาวบ้านนิยมตำข้าวปุ๊ก ซึ่งก็จะเป็นขนมพิเศษสำหรับเด็กอีกประเภทหนึ่ง

 

เนื้อสัตว์

การบริโภคเนื้อสัตว์ของเด็กและชุมชนบนดอยนั้น อาจกล่าวได้ว่ามักจะได้กินในช่วงที่มีความพิเศษ กล่าวคือ ช่วงที่มีการทำพิธีเรียกขวัญ การเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ตามฤดูกาล หรือเมื่อมีการล่าสัตว์ป่า ซึ่งจะนำมาแบ่งปัน มีการเชิญคนเฒ่าคนแก่ ผู้อาวุโสในตระกูล ในชุมชนมากินอาหารร่วมกัน มีการกล่าวให้พรแก่สมาชิกในที่นั้น ๆ ในบางชุมชนยังคงมีความเชื่อว่า เด็กและผู้หญิงที่ยังไม่เป็นผู้อาวุโส ไม่ควรกินเครื่องในไก่/ไข่ที่อยู่ในท้องแม่ไก่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ ในช่วงที่มีการทำพิธีเรียกขวัญด้วยไก่ ขา/น่องไก่มักจะถูกเก็บไว้ให้กับเด็กในครอบครัว และเชื่อว่าเป็นการนำโชคการนำมาซึ่งสุขภาพที่สมบูรณ์เหมือนกับความสมบูรณ์ของน่องไก่อีกด้วย การบริโภคเนื้อปลาสำหรับชุมชนในอดีตนั้น ส่วนมากมักไปจับปลาในลำห้วย ด้วยวิธีการวิดน้ำออกจากลำห้วยบริเวณนั้น ๆ และจับปลาหรือสัตว์น้ำชนิดเล็ก ๆ มากิน ส่วนมากมักนำไปหมกกับยอดส้มป่อยที่มีรสเปรี้ยว หรือลูกไม้ป่าบางชนิดที่ให้รสเปรี้ยว

ไข่

ไข่เป็นอาหารที่สามารถนำมาให้เด็กบริโภคได้ตลอดปี เนื่องจากทุกครอบครัวต้องเลี้ยงไก่  เพื่อนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม  การกินไข่นั้นจึงสามารถเก็บได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังมีเทศกาลไข่แดงของชนชาติพันธุ์ที่เฉลิมฉลองปีละครั้ง เพื่อเป็นการนำมาซึ่งสุขภาพดีแก่เด็กและคนในชุมชน

ผลไม้

ผลไม้ที่เด็กบนดอยมักบริโภคคือ กล้วย มะละกอ ขนุน มะม่วง ลูกหม่อน ส้มที่กินเปลือก (มีเปลือกหนากรอบและไม่มีน้ำ) ซึ่งส่วนมากชาวบ้านปลูกไว้ในสวน/ไร่นา ผลไม้จากป่าบางชนิดที่เป็นที่นิยม เช่น มะเดื่อเล็ก/มะเดื่อใหญ่  ผลสตรอเบอร์รี่ป่า หมากเม่า เป็นต้น

 

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest