ครูของผม…ครูของเรา : ตอน 2 “ก.ไก่….ข.ไข่”

แสงแดดอ่อนๆส่องกระทบใบติ้วสะท้อนระยิบระยับจะลับขอบฟ้าแล้ว..พวกเราเดินทางมาถึงหน้าประตูซุ้มทางเข้าหมู่บ้านพอดี..ลมพัดผ่านมากระทบใบหน้า…รู้สึกเย็นจับใจ ทั้งๆที่พวกเราเดินทางมาด้วยเหงื่อโชก อากาศที่นี่เย็นพอที่ไม่กล้าอาบน้ำได้….หมู่บ้านช่างสวยงดงามเหลือเกินบ้านแต่ละหลังรูปทรงคล้ายๆกันยกพื้นสูงหลังคามุงด้วยหญ้าคา ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่สับ สานสลับไขว้กันไปมาอย่างสวยงาม มีรั้วทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะกั้นเป็นแนวยาวต่อๆกันบ่งบอกถึงอาณาบริเวณเขตแดนพื้นที่ของแต่ละบ้าน..หมู่บ้านตั้งอยู่บนสันเขาที่ทอดยาววางแนวขวางตามทิศเหนือสู่ทิศใต้.เป็นกลุ่มเดียวกับยอดเขา ดอยสามเส้า เขตแดนระหว่างไทย พม่า .และสันเขาที่ตั้งของหมู่บ้านยังเป็นแนวแบ่งเขตระหว่างจังหวัดอีกด้วย…….

พวกเราเจ้าหน้าที่ผู้สมัครมาเป็นครูดอยและครูพี่เลี้ยงเดินทางมาถึงหมู่บ้านอ่าข่าพื้นที่เป้าหมายในโครงการการขยายโรงเรียนชุมชน..เสียงหมาเห่าดังเกรียวกราวไปทั้งหมู่บ้านเหมือนกับพวกเราเป็นคนแปลกหน้า ….

มีเด็กๆ ผู้เฒ่า ผู้แก่ มายืนมุงดูกันเป็นขบวน ชาวบ้านมาดูพวกเรา ที่มีหน้าตาอย่างเหนื่อยอ่อน เหงื่อโชกเปียกชุ่มไปทั้งตัว แบกเป้ใบใหญ่ไว้กลางหลังสะพายถุงย่าม และคนในจำนวนนี้ก็เริ่มแนะนำตัวว่า “พวกเรามาจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา จะมาอยู่ในหมู่บ้านที่นี่ จะมาเป็นครูสอนหนังสือภาษาไทยให้ชาวบ้านและเด็กๆนะ” จากนั้นก็ตามด้วยภาษามือเพื่อง่ายต่อสื่อสารและทำความเข้าใจ เพราะชุมชนที่นี่ยังพูด ฟัง ภาษาไทยไม่ได้ จากนั้นชาวบ้านคนหนึ่งก็พาพวกเราไปยังบ้านผู้นำ…และได้พูดคุยถึงวัตถุประสงค์ของการมาที่นี่และค่ำคืนนั้นเองก็ได้ยินเสียงป่าวประกาศของผู้นำที่เรียกลูกบ้านมาชุมนุมกันที่บ้านผู้นำ บรรยากาศดูคึกคักเป็นพิเศษสำหรับค่ำคืนนั้นมีเด็ก ๆ ผู้ใหญ่ ทั้งชายหญิงมาชุมนุมกัน เมื่อทุกคนมาพร้อมหน้า ผู้นำของหมู่บ้านจึงเริ่มพูดเป็นคนแรกด้วยภาษาประจำเผ่าว่า “คืนนี้ที่เรียกทุกท่านมาประชุมกันที่นี่นั้น เพราะว่าหมู่บ้านของเราจะมีครูมาอยู่แล้ว จะมาสอนหนังสือให้ชาวบ้าน…ชาวบ้านจะได้พูดภาษาไทยเป็น” ผมมองเห็นใบหน้าของทุกคนช่างอิ่มเอิบดีใจ ผมฟังภาษาของชาวบ้านที่นี่ได้บ้างจึงเข้าใจและแลกเปลี่ยนได้บ้างและเพิ่มเติมประเด็นการสนทนาจากครูพี่เลี้ยงด้วย การประชุมเสร็จไปอย่างรวดเร็วและนัดหมายถึงการมาช่วยกันสร้างโรงเรียนในวันพรุ่งนี้…ผู้นำหมู่บ้านบอกว่าคืนนี้พอแค่นี้เพราะเกรงใจพวกเราที่เดินทางมาเหนื่อยทั้งวัน…หลังประชุมพวกเราพากันออกมามองดูท้องฟ้าที่ลานหมู่บ้าน..โอ..ช่างงดงามเหลือเกินท้องฟ้าเต็มไปด้วยดวงดาวแพรวพราวระยิบระยับเต็มไปหมด…พวกเรา..ผมและเพื่อนอีกสองคน…คนหนึ่งเป็นคนเหนือ ชื่อ “แอร์” อีกคนมาจากเมืองกรุงชื่อ “ดาว” ชื่อช่างสอดคล้องกับบรรยากาศตอนนี้เหลือเกิน…พวกเราทั้งสามคนมาสมัครเป็นเจ้าหน้าทดลองงานที่นี่…เพื่อปรับสภาพความพร้อมและทดสอบความคาดหวังของตัวเองในการเป็นครูว่าใช่หรือไม่?

พอวันรุ่งขึ้น พวกผู้ชายได้แบกจอบบ้าง ถือมีดบ้าง ถือเสียมบ้าง มารวมกันที่ลานหมู่บ้าน เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว…จากนั้นผู้นำก็ได้แบ่งหน้าที่ให้ทุกคนทำ บางคนไปตัดไม้ บางคนขุดดินปรับที่ เพื่อทำการสร้างโรงเรียนและบ้านพักของครูจากการได้ตกลงกันเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ผมและเพื่อนได้ช่วยด้วยและชื่นชมทุกคนมีความขยันขันแข็งและดูมีความสุขกันเหลือเกินกับงานนี้…โรงเรียนและบ้านพักครูถูกสร้างแล้วเสร็จภายในสองสามวันด้วยรูปทรงง่ายๆ แต่ดูมั่นคงแข็งแรงดี

จากนั้นเสียงอ่านอักษรตัวแรกของพยันชนะไทยก็เกิดขึ้น ก. ไก่ ข. ไข่….ดังกังวานไปทั่วทั้งดอย .พวกเรา(ครู)ก็ลงมือกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อใช้ในวันแรกและวันต่อ ๆ ไป โดยกลางวันสอนเด็ก ๆ กลางคืนจะสอนผู้ใหญ่ โรงเรียนจึงเป็นจุดศูนย์กลางของเด็ก ๆและ ของชาวบ้านที่จะมาเรียนหนังสือและมาเล่นกัน ส่วนกลางคืนโรงเรียนก็เป็นจุดศูนย์รวมแห่งเดียวของหมู่บ้านที่มีแสงสว่างเจิดจ้าจากตะเกียงเจ้าพายุดวงเดียวในหมู่บ้าน แต่ละคืนจะเริ่มการเรียนการสอนประมาณสองทุ่มและเลิกประมาณสี่ทุ่มโดยประมาณ เพลงข้าวโพดสาลี และและเกมส์ต่างๆถูกนำมาร้องและเล่นอย่างไม่มีวันจบและเบื่อทุกคืนๆ..ครูอยู่ในหมู่บ้านด้วยความอบอุ่นใจบางคืนหลังจากการสอนหนังสือมีผู้เฒ่าผู้แก่มาคุยเป็นเพื่อนที่โรงเรียน หรือไม่ครูเองก็เป็นฝ่ายไปเยี่ยมชาวบ้าน พูดคุยกับชาวบ้านท่ามกลางความอบอุ่นรอบเตาไฟ พูดคุยไปจิบน้ำชาไป มีถั่วลิสงคั่วหอมๆกับเมล็ดดอกทานตะวัน ชาวบ้านรุมกันถามด้วยความสนใจครูคนใหม่ ด้วยเนื้อหาสาระต่าง ๆ “ครูอยู่กับพวกเรานานไหม? ครูอย่าทิ้งพวกเราไปไหนนะ หรือถ้าครูกลับแล้วใครจะมีครูคนใหม่มาอยู่แทนไหม? เป็นคำถามจากชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีให้ได้ยินเสมอๆทำให้นึกถึงบทเพลง ทำไมครูที่นี่มีน้อยนัก…เด็กๆมาถามถึงครูอยู่เสมอ.ครูคนใหม่ไปไหนกัน…….“ที่นี่ไม่มีครู” ของนักร้องวงแฮมเมอร์ ในหมู่บ้านเรื่องอาหารการกินครูแทบไม่ได้ซื้อและทำเลย ในแต่ละมื้อแต่ละวันจะมีชาวบ้านคนโน้นคนนี้มาชวนไปกินข้าวด้วยที่บ้านเสมอๆ บางวันครูก็ไม่ลืมที่จะหิ้วอาหารไปสมทบด้วย เช่น ไข่ ปลาทู ปลากระป๋อง ด้วยความเกรงใจ

ในช่วงแรกนั้น เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ (ครู) จะอยู่ในหมู่บ้านราวๆ 25 วันต่อเดือน จะออกจากหมู่บ้านก็ต่อเมื่อต้องมาประชุมประจำเดือนและพักประจำเดือน เดือนละ 5 วัน การเดินทางจะเดินทางด้วยเท้าไปบนทางเดินเล็ก ๆ ที่ชาวบ้านช่วยกันทำไว้ หรือบางเส้นทางแค่ถางหญ้าออกพอให้เห็นเป็นทางสองข้างทางเต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ บางหมู่บ้านที่ไกลหน่อยก็จะมีชาวบ้าน หรือเด็ก ๆ เดินทางมาส่งครูเป็นขบวนจนถึงถนนใหญ่ หรือจุดที่ชาวบ้านและเด็กคิดว่าครูคงเดินเองได้แล้วและปลอดภัยดีแล้วและมีการนัดหมายวันเวลาที่จะมารับครู ถ้ามีสัมภาระมากชาวบ้านก็จะนำม้ามาช่วยต่างของไป เช่นน้ำมันก๊าด สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน การกระทำเช่นนี้เป็นน้ำใจที่ชุมชนมอบให้กับครูผู้เสียสละอย่างไม่มีวันจางหาย ในแต่ละเดือนของการประชุมเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทุกคนจะรู้สึกดีใจที่ได้สนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน “เป็นอย่างไรบ้างหมู่บ้านของเธอ นักเรียนพูดภาษาไทยได้กี่คน ผู้เฒ่าผู้แก่พูดภาษาไทยได้กี่คนแล้ว ได้ยินเสียงระเบิดยิงกันที่ชายแดนหรือเปล่า? เธอปลอดภัยดีใช่ไหม” มีเกมส์ และบทเพลงใหม่ๆสำหรับใช้ในการเรียนการสอนไหม?และอื่นๆ อีกมากมาย หลังประชุมเสร็จทุกคนก็กลับไปหมู่บ้านของตนเอง ขวัญและกำลังใจจากเพื่อนร่วมงานเป็นยาเพิ่มพลังในการทำงานต่อไปในชุมชน ที่มีเด็กนักเรียนตัวเล็กๆและชาวบ้านที่น่ารักทุกคนรออยู่

จากการดำเนินงานช่วงแรก 5 หมู่บ้าน ได้ขยายเป็น 10 หมู่บ้านและ 20 หมู่บ้านต่อมา ตามการร้องขอของชุมชนในแถบนั้น จำนวนเจ้าหน้าที่(ครู)ก็เพิ่มขึ้นตามพื้นที่และปริมาณงาน ไม่เพียงแต่จัดการเรียนการสอนเท่านั้น บทบาทของเจ้าหน้าที่ได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์และสภาพปัญหาของชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมและพัฒนาระบบการเกสรให้มีความเหมาะสมและยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพองค์กร ชุมชน และการติดต่อประสานงานหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนถึงในขณะนี้ชาวบ้านพูดภาษาไทยได้มากขึ้น เด็กและเยาวชนฟัง พูด อ่านภาษาไทยได้มากขึ้น และได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นแล้วบางคนเป็นผู้นำ เป็นนายกอบต. เป็น สจ. นับเป็นความภาคภูมิใจเป็นความสำเร็จเล็กๆแต่เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี ความเจริญในด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เริ่มหลั่งไหลเข้าไปสู่ชุมชนตามนโยบายของรัฐ มีถนน มีไฟฟ้าและสื่อต่าง ๆ มากมาย เป็นตัวเร่งเร้าให้ชุมชนสนใจและยอมรับการพัฒนาสมัยใหม่ในที่สุด เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ (ครู) ต้องทำงานหนักมากขึ้นหลายเท่าตัว ทางหนึ่งแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน อีกทางหนึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ภายนอกที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน ถึงตอนนี้บทบาทของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ทำหน้าที่ครูสอนหนังสือและอยู่ในหมู่บ้านแล้วโรงเรียนต่างๆถูกโอนกลับไปให้ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนดำเนินการต่อ เจ้าหน้าที่ (ครู) ต้องปรับตัวใหม่และพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอก เป็นนักคิด นักประสานงาน และนักจัดการไปในตัว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ใช่ทำอยู่แค่ลุ่มน้ำแม่จัน-แม่สลองเท่านั้น ต้องขยายพื้นที่และเครือข่ายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ มีปัญหาใหม่ ๆ ที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ต้องดำเนินกิจกรรมอย่างรอบด้านตามภารกิจที่มั่นหมาย10 ประการ เพื่อให้มนุษย์ สัตว์ และทรัพยากรธรรมชาติ อยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูลสมดุลกัน และคนดำเนินวิถีชีวิตแบบ อยู่พอดี กินพอดี บนพื้นที่สูง เพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน ต่อไป

จะแฮ  (สุพจน์ หลี่จา)

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest