ยะเสอ จะจือ คนรักษาป่าบ้านแสนใหม่

 

ฤดูฝนปีนี้ฝนมาเร็วดี ทุ่งนา ป่าเขาเขียวขจี ชวนให้คิดถึงคนดีที่ช่วยรักษาป่าต้นน้ำไว้เป็นมรดกของชาวโลก ขอเริ่มด้วยผู้นำชาวลาหู่ วัย 45 ปี ชื่อ ยะเสอ จะจือ แห่งบ้านแสนใหม่ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ยะเสอ สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มเรียนรู้และพูดภาษาไทยตั้งแต่ปี 2529 จากเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ที่เข้ามาเป็นครูสอนหนังสือ

ในปี 2538 ได้มีการคัดเลือกผู้นำหมู่บ้านคนใหม่แทนผู้นำคนเก่าที่ลาออกไป ยะเสอ ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชนให้เป็นผู้นำคนใหม่ของชุมชนด้วยวัยเพียง 30 ปี เพราะความเป็นคนที่ขยัน มีคุณธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่นและเป็นคนพูดตรงไปตรงมา จึงทำให้คนในชุมชนเคารพรักและเชื่อฟัง

ครอบครัวของ ยะเสอ มีฐานะดีถ้าเทียบกับครอบครัวอื่น ๆ คือ มีนา 3 ไร่ มีม้า 2 ตัว หมู 5 ตัว ไก่ 20 ตัว มีมอเตอร์ไซด์ 1 คัน มีข้าวพอกินตลอดปี ซึ่งในชุมชนชาวลาวหู่ถือว่า ถ้าครอบครัวใด มีข้าวพอกินตลอดปี จัดว่ามีฐานะดี

ครอบครัวของ ยะเสอ มีอาชีพเกษตร ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และหาของป่าขาย เช่น ดอกหญ้า ( ก๋ง ซึ่งใช้ทำไม้กวาด) เก็บช่วงเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ราคาประมาณกิโลกรัมละ 7 – 12 บาท ทำรายได้ปีละประมาณ 10,000 – 20,000 บาท นอกจากนี้ยังเก็บลูกก่อขาย จากป่าต้นน้ำแม่จันที่ชุมชนดูแลอยู่ ซึ่งมีต้นก่อมาก เป็นหมื่น ๆ ต้น จึงทำให้ชุมชนมีรายได้ในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ของทุกปี โดยราคาถังละประมาณ 150 บาท แต่ละครอบครัวจะมีรายได้จากการขายลูกก่อประมาณ 2,500 – 3,000 บาท

นอกจากเป็นผู้นำชุมชนแล้ว ยะเสอ ยังเป็นประธานสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์บ้านแสนใหม่ มีสมาชิก 45 คน มีเงินอยู่ 250,000 บาท และเป็นประธานกลุ่มป้องกันไฟป่า มีกองทุนป้องกันไฟป่า 35,000 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา

ยะเสอ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานในด้านต่าง ๆ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิ พชภ. เช่น การดูงานด้านการเกษตรยั่งยืน ของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมจังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2540

ดูงานด้านการจัดการป่า การปลูกป่าถาวร ที่เขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา โดยมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ปี 2541

ดูงานการจัดการป่าชุมชนที่บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ปี 2546 และครั้งล่าสุดไปอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์ วาระแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ( 5 วัน ) ที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน โรงแรมชุมพรคาบาน่า จังหวัดชุมพร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วมประชุมอบรมด้านการปลูกป่าถาวร การจัดการไฟป่าในพื้นที่ ซึ่งจัดโดยหน่วยงานป่าไม้หรือทหาร บก.สูงสุดอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดการป่าเป็นอย่างดี และผนวกกับองค์ความรู้ดั้งเดิมของชาวลาหู่ที่มีอยู่แล้ว

แรงจูงใจในการจัดการป่า ของ ยะเสอ เริ่มตั้งแต่สมัยที่เป็นเด็ก ได้เห็นป่ารอบ ๆ หมู่บ้านมีความสมบูรณ์ เวลาเดินทางไปไร่กับพ่อแม่ หรือไปหาของป่า ตลอดทางจะปกคลุมไปด้วยป่า มีความชุ่มชื่นร่มรื่นตลอดทาง มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มากมาย ทั้งไม้เล็กไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด มีสัตว์ป่ามากมาย เช่น นกประเภทต่าง ๆ เก้ง หมูป่า และกระรอกในช่วงฤดูฝน ช่วงที่มีลูกไม้สุก ในป่าจะระงมไปด้วยเสียงนกที่มากินลูกไม้ เวลามีการประชุมอบรมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ. เรื่องการจัดการป่า ทำให้ ยะเสอยิ่งมีความสุข เมื่อคิดถึงภาพในอดีต

ด้วยเหตุนี้ ยะเสอ จึงสนใจนำชาวบ้านแสนใหม่เข้าร่วมโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ในวโรกาส 50 ปี ทรงครองราชย์ กับมูลนิธิ พชภ. ซึ่งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)และแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ให้ทุนสนับสนุน ยะเสอ เป็นหัวหน้าโครงการฯปลูกป่าทั้งหมด 3,000 ไร่ โดยปลูกในบริเวณป่าเสื่อมโทรมของชุมชน แนวทางการปลูกป่าเน้นแบบธรรมชาติ ชุมชนมีส่วนร่วมวางแผนตั้งแต่การเลือกพื้นที่ ชนิดไม้ที่จะปลูก วิธีปลูก และการดูแลจนกระทั่งไม้ที่ปลูกไว้เจริญเติบโต วางระบบป้องกันไฟป่าและการจัดการพื้นที่ใช้สอยของชุมชน เช่น พื้นที่ป่า พื้นที่ทำกิน และพื้นที่อยู่อาศัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาส่งเสริม

ช่วงฤดูแล้ง เป็นช่วงที่ ยะเสอ ทำงานหนักที่สุด โดยร่วมกับคนในชุมชนทำแนวกันไฟระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ติดชายแดนไทย – พม่า จัดเวรสลับผลัดเปลี่ยนกันไปนอนเฝ้าที่กระท่อมดูไฟ ทั้งกลางวันและกลางคืนทำให้ไม่มีไฟลามเข้าในพื้นที่ปลูกป่าเลย ด้วยความพยายามอย่างหนักของทุกคน สภาพป่าจึงกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

หมู่บ้านแสนใหม่เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ต้นน้ำอันเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำจันซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภคของประชาชนทั้งอำเภอแม่จัน ยะเสอจึงตระหนักในภาระความรับผิดชอบต่อการรักษาป่าต้นน้ำให้ดีที่สุด เพราะถูกปลูกฝังจากผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวลาหู่ว่า ป่า คือ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและเป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน ถ้าไม่มีป่า คนและสัตว์ก็จะอยู่ไม่ได้ “เพราะดินเราจึงได้กินข้าว เพราะป่าเราจึงได้กินน้ำ ชะนีตายตัวหนึ่งเงียบเหงาไปทั้งป่า” นี่คือสุภาษิตของชาวลาหู่ ได้ถ่ายทอดเล่าขานกันมาแต่ครั้งโบราณ

ยะเสออธิบาย ว่า “สัตว์ป่าที่เป็นตัวบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่านั้นมีหลายชนิด เช่น เสือ นกกก นอกจากนั้นยังมี ชะนี ลิง ไก่ฟ้า กระทิง กวาง ส่วนสัตว์อื่น ๆ เช่น หมูป่า กระรอก นกเบา เม่น อีเห็น เป็นสัตว์ที่มีอยู่ทั่วไป

พืชที่บอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า ได้แก่ ต้นไทร ต้นก่อใหญ่ ต้นต๋าว ต้นหวายป่า จะค่านป่า ไหม่โหม่ (เป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง ที่นำมาจักสานคุณสมบัติคล้ายหวาย) ส่วนไม้ชนิดอื่น ๆ เป็นตัวประกอบของป่า เช่น ไผ่ กล้วย

พืชสมุนไพร ที่มีเฉพาะในป่าสมบูรณ์ เช่น ยาหนู่นะ (ยาบำรุงร่างกาย) พะโก่โละ มีคุณสมบัติเป็นยาบำรุงร่างกาย นอนหลับ และทำให้กินข้าวอร่อย เจริญอาหาร

วิธีคิด วัฒนธรรม ความเชื่อ ของชนเผ่าลาหู่นั้น ได้ดัดแปลงมาจากธรรมชาติ โดยอาศัยป่าเป็นที่พึ่งในการดำเนินชีวิต ชื่อ ลาหู่ นั้น แปลว่า พรานป่า ชาวลาหู่ จึงมักตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตป่าที่มีอาหารสมบูรณ์และมีสัตว์ป่าชุกชุม

ชาวลาหู่หาอาหารจากป่า โดยการล่าสัตว์ และพืชผักต่าง ๆ ก่อนจากบ้านไปเข้าป่าต้องทำพิธีบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขาทุกครั้ง มิฉะนั้นจะได้รับอันตราย บางวันอาจล่าสัตว์ไม่ได้เพราะเจ้าป่า เจ้าเขา ไม่อนุญาตให้ บางครั้งอาจเกิดอุบัติเหตุในป่าเพราะได้ลบหลู่หรือไม่แสดงการเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทาง ผู้ใหญ่จึงสอนเด็กว่าเมื่อเข้าป่าต้องไม่คุยหรือตะโกนเสียงดังในป่า ไม่ฉี่รดต้นไม้ ไม่ถ่มน้ำลายรดต้นไม้ หากจะตัดต้นไม้แต่ละครั้งต้องทำพิธีขอจากผีที่เป็นเจ้าของ

นอกจากพิธีกรรมที่บุคคลต้องปฏิบัติในการเข้าป่า เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะตัวแล้ว ยังมีพิธีกรรมและความเชื่อที่ทำรวมกันทั้งชุมชน เช่น พิธีเซก่อเว ซึ่งทำช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี เพราะเชื่อว่าการเตรียมการเพาะปลูกในแต่ละปีนั้น ชาวลาหู่ จะตัดไม้ เผาไร่ และขุดดิน เป็นการรบกวนชีวิตของแมลงและสัตว์ป่าบางอย่าง ชาวลาหู่ จึงต้องทำพิธีขอขมา ขอโทษ และทำบุญให้สัตว์ที่ตายไป เพื่อมิให้เป็นเวรเป็นกรรมกันต่อไป

พิธีเซก่อเว ใช้ ดอกไม้ที่มีกลิ่นไม่ฉุน ไม้ไผ่ ทรายจากลำห้วย น้ำ ข้าวสาร และเทียน โดยมีผู้นำทำพิธี ที่ลานหมู่บ้าน
ในวันนี้ทุกคนจะถือศีล ไม่ฆ่าสัตว์และไม่กินเนื้อสัตว์ เพื่อเป็นการอุทิศให้ชีวิตที่ถูกในสิ่งที่ได้ทำลายไป โดยเด็กรุ่นลูกหลานจะได้เรียนรู้ สืบทอดพิธีกรรมจากประสบการณ์โดยตรง ที่ได้เข้าร่วมพิธีกับพ่อแม่

ชาวลาหู่รักษาป่าด้วยวิธีที่หลากหลาย เช่น ห้ามตัดต้นไม้มีลูกไม้ที่เป็นอาหารของสัตว์ป่า ห้ามตัดไม้ในบริเวณป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน ในบริเวณป่าช้าและป่าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ”

นอกจากเป็นนักอนุรักษ์ตัวยงแล้ว ยะเสอ ให้ความสำคัญกับการมีสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงประสานกับผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ มูลนิธิ พชภ. และนายอำเภอแม่จัน ในการขอลงรายการสัญชาติไทยตาม พรบ.สัญชาติ พ.ศ.2551 ทำให้ราษฎรบ้านแสนใหมที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้สัญชาติถึง 30 คน

ข้อเสนอแนะในการจัดการป่า

ยะเสอ เสนอว่าชุมชนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานป่าไม้ ควรสนับสนุนกล้าไม้ งบประมาณดูแลไฟป่า การส่งเสริมการปลูกพืชอาหารในชุมชนที่ใช้บริเวณผืนป่า เช่น โครงการป่าพื้นบ้านอาหารชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีอาหารสมบูรณ์และขายเป็นรายได้เสริมได้ด้วย

หน่วยงานเกษตรควรส่งเสริมระบบเกษตรยั่งยืน ให้หลักวิชาการที่ช่วยให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ที่จำกัดอย่างคุ้มค่าและได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคและมีระบบตลาดรองรับ องค์กรปกครองท้องถิ่นควรสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนต่าง ๆ ร่วมมือรักษาป่าและป้องกันไฟป่า ให้ทุกคนมีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการจัดการดูแลป่า และประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่ของชุมชนโดยการแบ่งโซนที่ชัดเจน เช่น เขตที่อยู่อาศัย เขตพื้นที่ทำกิน และเขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าใช้สอย โดยใช้หลักวิชาการและภูมิปัญญาวิถีชีวิตของชุมชนเป็นส่วนประกอบในการจัดการทรัพยากร

สุดท้ายนี้ ยะเสอ บอกว่าป่าคือชีวิต ดินทำให้เกิดป่า และป่าทำให้เกิดสิ่งชีวิตและน้ำ ถ้าไม่มีป่า ชนเผ่าลาหู่ก็คงอยู่ไม่ได้ ป่าจึงเปรียบเสมือนบ้านเป็นตลาดของชนเผ่า ในยุคที่พระเจ้า ( ฮือซา ) สร้างมนุษย์นั้นพระเจ้าได้ประทานดินแดนและอุปกรณ์ในการดำรงชีวิตให้ด้วย คือ มีเสียม หน้าไม้ ชนเผ่าลาหู่เลือกที่จะอยู่บนดอย ( ภูเขา ) จึงต้องรักษาป่าเพื่อรักษาชีวิตของตน
และชุมชนไว้ตลอดไป

เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์
Tuenjai_d@yahoo.com

หมายเหตุ ขอขอบคุณ คุณสุพจน์ หลี่จา เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ที่ให้ข้อมูลและภาพประกอบ

 

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest