ป่าปลูกผืนใหญ่ ลมหายใจของขุนเขา ดอยแม่สลอง

ฮาซัน อุมา เรื่อง/ภาพ

ผมรู้สึกหายเหนื่อยและประทับใจเป็นอย่างมากเมื่อได้เห็นป่าไม้ผืนใหญ่นับพันไร่ยืนต้นเขียวชอุ่มอยู่บนดอยสูงแห่งนี้
ไม่น่าเชื่อว่าป่าผืนนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านบนดอย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่และอาข่า โดยการสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา หรือที่รู้จักกันในนาม “พชภ.” ได้ร่วมกันปลูกเมื่อ 28 ปีก่อน โดยได้ร่วมกันดูแล จนกลายเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์และผืนใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง บนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย


ผมเดินทางมาจากพื้นที่ปลายด้ามขวาน แม้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์จำนวนมากเพราะเป็นเขตร้อนชื้นที่มีฝนตกเกือบทั้งปี แต่ผมไม่เคยเดินท่องป่าเลยสักครั้ง แต่เมื่อได้มีโอกาสมาฝึกงานที่เมืองเหนือ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปี 2566 ผมกับเพื่อนคู่หูที่มาด้วยกันจึงได้มีโอกาสติดตาม “ครูแดง” เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตครูอาสาบนดอยในยุคบุกเบิก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา หรือ พชภ. เพื่อเดินสำรวจต้นไม้ในป่าผืนนี้


ป่าผืนนีชาวบ้านและครูแดง รวมทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ.ร่วมกันปลูกมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งตอนนั้นพื้นที่บนดอยย่านนี้ เป็นเพียงไร่ของชาวบ้านและไม่มีต้นไม้ใดๆ หรือเรียกว่า “ดอยหัวโล้น” ซึ่งจะแตกต่างจากสภาพปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง


ตลอดระยะเวลาการเดินทางด้วยเท้า กว่า 5 ชั่วโมง ผมได้เห็นถึงระบบนิเวศน์ที่พลิกฟื้นคืนมา สัตว์ป่าต่างๆได้อยู่อาศัย ได้เห็นถึงความสวยงามของป่าแห่งนี้ ทั้งไม้ดอกที่มีอยู่หลากหลายชนิดและไม้ยืนต้นต่างๆ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก เช่น ต้นเปา หวานป่า เถาวัลย์ป่า ซิ้วป่า ต้นขี้เหล็ก ต้นกาแฟ แอปเปิ้ลป่า ต้นสน เห็ดที่ขึ้นจากรา ซีมะ ดาแกวะ ต้นมะขามป้อม เบอรี่ป่า มันเสา ต้นลูหว้า มะเดื่อป่า


นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรต่างๆ เช่น อบเชย เอื้องหมายนา ใบไม้ที่ชาวบ้านนำมาใช้ทำพิธีกรรม ดอกไม้ที่ให้ความหอม ต้นท้อ สะบ้า ต้นน้ำเต้า และต้นฝรั่ง เป็นต้น และยังมีอื่นๆอีกมากมาย


ระหวางเดินทางผมได้ชื่นชมทิวทัศน์ของภูเขาที่มีความสวยงามมาก สัมผัสได้ถึงความรู้สึกเย็นสบาย ตื่นตาตื่นใจอย่างไม่น่าเชื่อว่า จากดอยหัวโล้นที่แทบไม่มีต้นไม้เลย แต่ด้วยการดูแลและความเอาใจใส่ของชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆ และเจ้าหน้ามูลนิธิพชภ. ส่งผลให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นป่าไม้ผืนใหญ่ และเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่พึ่งพาของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากมาย ผมได้เห็นต้นสนสามใบที่เติบโตสูงลิ่ว ประมาณด้วยสายตาน่าจะราว 50 เมตรได้

“ครูแดง” ย้อนอดีตให้ฟังว่า ชาวบ้านในพื้นที่และมูลนิธิ พชภ.ทำงานร่วมกันในการปลูกและดูแลป่าผืนนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการตามคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้กล่าวไว้ว่า การที่ป่าไม้จะอุดมสมบูรณ์หรือดีได้นั้น คนต้นน้ำเป็นบุคคลสำคัญ ดังนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับชาวบ้านที่อยู่ต้นน้ำ เราต้องร่วมกันทำงาน ร่วมแรงร่วมใจ เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของป่า มูลนิธิ พชภ. ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2528 หลังจากนั้นอีก 10 ปี จึงได้ทำโครงการดูแลป่าใน ปี 2538 จนปัจจุบันชาวบ้านและมูลนิธิ พชภ.ยังช่วยกันดูแลป่าไม้ผืนนี้ โดยมีทั้งต้นไม้ที่นำมาปลูก และต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ “มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน ธรรมชาติให้ ปัจจัยสี่และความสงบกับมนุษย์ ส่วนมนุษย์ให้การดูแลกับธรรมชาติ หากไม่มีธรรมชาติ มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ดังนั้น มนุษย์และธรรมชาติ จะต้องดำรงซึ่งกันและกัน”ครูเตือนใจ ให้แง่คิดอย่างอารมณ์ดี ท่ามกลางป่าใหญ่

ในความรู้สึกของคนต่างพื้นที่ ผมรู้สึกว่าป่าไม้แห่งนี้เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจมาก เพราะปัจจุบันป่าไม้ปลูกใหม่ผืนนี้ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตดีขึ้นของชุมชน ท่ามกลางกระแสพัฒนาโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวบนดอยแม่สลองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างอาคารที่พักเพื่อรองรับธุรกิจ ทำให้พื้นที่บนดอยร้อนขึ้นทุกวัน แต่ด้วยความเย็นจากป่าผืนนี้เอง จึงช่วยบรรเทาความร้อนลงได้


ผมกับเพื่อนรู้สึกว่าป่าผืนนี้เป็นลมหายใจของภูเขา ซึ่งในอนาคต หากมีการขยับขยายการปลูกป่าไปตามดอยต่างๆที่เป็นดอยหัวโล้นโดยมีความร่วมมือของชุมชนเป็นกำลังหลัก จะทำให้ลมหายใจของขุนเขาเกิดขึ้นมากมาย ผลกระทบจากสถานการณ์โลกร้อนคงจะบรรเทาเบาบางลงได้

Like this article?

Share on Facebook
Share on Twitter
Share on Linkdin
Share on Pinterest